รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติประสบความสำเร็จในการรักษาเส้นเลือดหัวใจเกินด้วยวิธีสวนหัวใจในทารกคลอดก่อนกำหนดเป็นครั้งแรกในเมืองไทย

มกราคม 19, 2017 17:05 โดย opwnews
0
2122

รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติประสบความสำเร็จในการรักษาเส้นเลือดหัวใจเกินด้วยวิธีสวนหัวใจในทารกคลอดก่อนกำหนดเป็นครั้งแรกในเมืองไทย
16176020_720190764803136_2076393338_n
รศ.นพ.จิตตินัดด์ หะวานนท์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยถึงการรักษาเส้นเลือดหัวใจเกินด้วยวิธีสวนหัวใจในทารกคลอดก่อนกำหนด (น้ำหนักเพียง 1,300 กรัม) สำเร็จครั้งแรกของไทย ว่า สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2559 ทีมแพทย์โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ได้ทำการรักษาเส้นเลือดหัวใจเกินด้วยวิธีการสวนหัวใจในทารกคลอดก่อนกำหนดสำเร็จเป็นครั้งแรกในเมืองไทย ทั้งนี้ “เส้นเลือดหัวใจเกิน” เป็นเส้นเลือดที่เชื่อมต่อระหว่างเส้นเลือดปอดและเส้นเลือดแดงใหญ่ ซึ่งมีความสำคัญในช่วงที่ทารกอยู่ในครรภ์ เพราะเส้นเลือดดังกล่าวจะทำหน้าที่นำสารอาหารและออกซิเจนไปเลี้ยงร่างกาย เนื่องจากทารกที่อยู่ในครรภ์นั้นยังไม่สามารถหายใจเองได้ ตามปกติแล้วเมื่อเด็กคลอดออกมาเส้นเลือดเกินนี้จะปิดลง แต่สำหรับทารกที่คลอดก่อนกำหนดและมีน้ำหนักน้อยจะมีอุบัติการณ์ของการคงอยู่ของเส้นเลือดหัวใจเกินสูง ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน โดยทีมแพทย์ผู้ดูแลรักษา ประกอบด้วย ผศ.นพ.รัฐพล ว่องวันดี กุมารแพทย์โรคหัวใจ ผศ.นพ.บุญชู ศิริจงกลทอง กุมารแพทย์โรคหัวใจ ผศ.พญ.สุดาทิพย์ โฆสิตะมงคล กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด อ.พญ.วรัญญา เลิศไพฑูรย์พันธ์ วิสัญญีแพทย์ และ พญ.ปวีณา กาละดี แพทย์ประจำบ้านต่อยอดกุมารแพทย์โรคหัวใจ
ด้าน ผศ.นพ.รัฐพล ว่องวันดี กุมารแพทย์โรคหัวใจ ผู้ทำการรักษาผู้ป่วยด้วยวิธีดังกล่าวเป็นรายแรกของไทยได้สำเร็จ เปิดเผยว่า สำหรับกรณีที่มีเส้นเลือดเกินในทารกคลอดก่อนกำหนดนั้นส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจวายได้ โดยทารกจะหอบเหนื่อย อาจต้องใส่ท่อช่วยหายใจนาน นอกจากนี้ยังส่งผลต่อปริมาณเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะที่สำคัญลดลง เช่น ไต ลำไส้ เป็นต้น ซึ่งอาจทำให้เกิดภาวะลำไส้เน่าตายหรือไตวายได้ ทั้งนี้เราจะทราบว่าทารกมีภาวะเส้นเลือดหัวใจเกินดังกล่าวได้จากการตรวจพบเสียงฟู่ในหัวใจ คลำชีพจรได้แรง เอกซเรย์ปอดพบหัวใจโตและมีเลือดไปปอดมาก และตรวจยืนยันด้วยวิธีเอคโคคาร์ดิโอแกรม (Echocardiogram)
ในด้านการรักษาภาวะดังกล่าวด้วยวิธีการสวนหัวใจและใช้อุปกรณ์ปิดเส้นเลือดหัวใจเกินในทารกคลอดก่อนกำหนด เป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เริ่มทำการรักษามาไม่นาน ในปัจจุบันเริ่มด้วยการให้ยาปิดเส้นเลือดเกิน เช่น อินโดเมตทาซิน (indomethacin) ไอบิวพรอเฟนไลซีน (ibuprofen lysine) เป็นต้น หากใช้ยาไม่ได้ผล แพทย์จะเลือกวิธีการผ่าตัด ด้วยวิธีการผูก หนีบ หรือตัดเส้นเลือดหัวใจเกิน โดยศัลยแพทย์ทรวงอกที่มีความชำนาญ ส่วนการสวนหัวใจและใช้อุปกรณ์ปิดเส้นเลือดหัวใจเกินในทารกคลอดก่อนกำหนดนั้นเป็นอีกทางเลือกหนึ่งที่เริ่มมีการทำมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้ และสำหรับในประเทศไทยยังไม่เคยมีการรักษาด้วยวิธีนี้มาก่อน โดยขั้นตอนการสวนหัวใจนั้นจะเริ่ม
ด้วยการใส่สายสวนผ่านเส้นเลือดดำใหญ่ที่ขาหนีบของทารก ผ่านเส้นเลือดดำใหญ่ หัวใจ และเส้นเลือดเกิน ตามลำดับ แล้วปล่อยอุปกรณ์ปิดเส้นเลือดเกิน ซึ่งอุปกรณ์ที่ใช้เป็นโลหะจำรูปนิทินอล (nitinol) เป็นส่วนผสมระหว่างนิกเกิลและไทเทเนียม มีคุณสมบัติ มีความยืดหยุ่นสูง คืนรูปเดิมได้ และไม่เป็นสนิม
วิธีการรักษาด้วยวิธีสวนหัวใจเพื่อปิดเส้นเลือดเกินในทารกคลอดก่อนกำหนดนี้มีความยากลำบาก เนื่องจากเส้นเลือดเด็กทารกนั้นมีขนาดเล็กมาก ดังนั้นแพทย์จึงใช้อัลตราซาวด์เพื่อช่วยดูเส้นเลือดขณะแทงเข็ม ทำให้เพิ่มความแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้ทารกกลุ่มนี้จะมีภาวะอุณหภูมิต่ำง่าย ซึ่งเป็นอันตรายมากในทารกคลอดก่อนกำหนด ระหว่างการรักษาจึงต้องใช้เครื่องทำความอบอุ่นให้แก่ทารก อีกทั้งยังพบว่าระหว่างทำการรักษาอุปกรณ์อาจหลุดหรือไปขวางเส้นเลือดที่อยู่ข้างเคียงได้เนื่องจากเส้นเลือดของทารกมีขนาดเล็กมาก วิธีการรักษาดังกล่าวนี้ยังถือเป็นวิธีใหม่ที่อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการช่วยแบ่งเบาภาระของศัลยแพทย์ทรวงอก
ผศ.นพ.รัฐพล กล่าวอีกว่า สำหรับผู้ป่วยรายนี้เป็นบุตรคนที่ 2 ของแฝดสาม คลอดเมื่ออายุครรภ์ 29 สัปดาห์ น้ำหนักแรกคลอด 1,330 กรัม เมื่อทีมแพทย์ตรวจพบความผิดปกติได้ร่วมกันวางแผนการรักษาร่วมกับผู้ปกครองของผู้ป่วย และตัดสินใจทำการรักษาเมื่อทารกมีอายุเพียง 12 วัน เนื่องจากเด็กมีภาวะหัวใจวาย ทีมแพทย์ได้ใช้เวลาทำการรักษารวม 58 นาที โดยขณะนี้ทารกยังอยู่ในความดูแลของทีมแพทย์ในหอผู้ป่วยทารกแรกเกิดวิกฤต
16128454_720190524803160_807249638_n16128483_720190514803161_1272543197_n




--!>