ผลการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. จ.นครราชสีมา อ.เมือง มีรายได้สูงสุด ขณะที่ อ.เมืองยาง ต่ำสุด เด็กแรกเกิด-12 ปี ได้รับวัคซีนครบ น้ำดื่มน้ำใช้พอเพียง การออมเงินยังต้องได้รับการแก้ไข

มิถุนายน 22, 2017 07:49 โดย opwnews
0
883

PNOHT600622001016408_22062017_014745

วันนี้ (22 มิ.ย. 60) เวลา 10.30 น. ที่ศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 จังหวัดนครราชสีมา  นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการนำเสนอผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนระดับจังหวัด โดยมีนางสุนีย์ บุตรเนียร พัฒนาการจังหวัดนครราชสีมา กล่าวรายงาน โดยมีผู้บริหารและหัวหน้าส่วนราชการระดับจังหวัด ผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พัฒนาการอำเภอ นักวิชาการพัฒนาชุมชน ผู้จัดเก็บข้อมูล ผู้บันทึกข้อมูล ภาคีการพัฒนาและสื่อมวลชนภายในจังหวัด จำนวน 472 คน เข้าร่วมรับฟัง โดยกิจกรรมประกอบด้วย การแสดงนิทรรศการ ทิศทางการพัฒนาประเทศและจังหวัดนครราชสีมา การมอบประกาศเกียรติคุณผู้จัดเก็บข้อมูล จปฐ.ดีเด่น ผู้บันทึกข้อมูล จปฐ.ดีเด่น และโล่รางวัลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นดีเด่น ปี 2560 และการเสวนาหัวข้อ การบริหารการจัดเก็บข้อมูลและการใช้ประโยชน์จากข้อมูล จปฐ. ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12
สำหรับปี 2560 เป็นปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 ได้ปรับปรุงเครื่องชี้วัดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนไทย จำนวน 5 หมวด 31 ตัวชี้วัด โดยให้ทุกจังหวัดได้จัดเก็บข้อมูล จปฐ. ทุกครัวเรือนทั่วประเทศ เพื่อนำไปใช้ในการวางแผนแก้ไขปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น จังหวัดนครราชสีมาจึงได้ดำเนินการบริหารการจัดเก็บข้อมูล จปฐ. พร้อมทั้งประมวลผลการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนจากครัวเรือนที่อาศัยอยู่จริง ติดต่อกันไม่น้อยกว่า 6 เดือน รวมทั้งหมด 634,162 ครัวเรือน มีประชากร 1,662,488 คน จำแนกเป็นชาย 812,473 คน หญิง 850,015 คน รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในจังหวัดนครราชสีมา 86,932 บาทต่อคนต่อปี อำเภอเมืองนครราชสีมา มีรายได้เฉลี่ยสูงสุด 155,667 บาทต่อคนต่อปี และอำเภอเมืองยาง มีรายได้เฉลี่ยต่ำสุด 61,859 บาทต่อคนต่อปี
ส่วนผลการสำรวจข้อมูลด้านคุณภาพชีวิตดีของคนโคราช 5 ลำดับแรก ได้แก่ เด็กแรกเกิด – 12 ปี ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคครบตามตารางเสริมสร้างภูมิคุ้มกันโรค คิดเป็นร้อยละ 99.98 , ครัวเรือนมีน้ำสะอาดสำหรับดื่มและบริโภคเพียงพอตลอดปี อย่างน้อยคนละ 5 ลิตรต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 99.96 , ครัวเรือนมีน้ำใช้เพียงพอตลอดปีอย่างน้อยคนละ 45 ลิตรต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 99.93 , ผู้สูงอายุ ได้รับการดูแลจากคนในครัวเรือน ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน คิดเป็นร้อยละ 99.93 , ผู้ป่วยเรื้อรัง ได้รับการดูแลจากครอบครัว ชุมชน ภาครัฐ หรือภาคเอกชน คิดเป็นร้อยละ 99.93
ด้านคุณภาพชีวิตที่ต้องได้รับการแก้ไขของคนโคราช 5 ลำดับแรก ได้แก่ ครัวเรือน ไม่มีการเก็บออมเงิน คิดเป็นร้อยละ 21.50 , คนในครัวเรือนที่จบการศึกษาภาคบังคับ 9 ปีที่ไม่ได้เรียนต่อและยังไม่มีงานทำ ไม่ได้รับการฝึกอบรมด้านอาชีพ คิดเป็นร้อยละ 9.18 , คนในครัวเรือนดื่มสุรา คิดเป็นร้อยละ 7.36 , คนในครัวเรือนสูบบุหรี่ คิดเป็นร้อยละ 7.14 , คนอายุ 60 ปีขึ้นไป ไม่มีอาชีพและไม่มีรายได้ คิดเป็นร้อยละ 6.08
พิสิษฐ์  เขื่อนเพ็ชรต์ / ศูนย์ข่าวนครราชสีมา
PNOHT600622001016409_22062017_014745  PNOHT600622001016406_22062017_014745 PNOHT600622001016405_22062017_014745 PNOHT600622001016404_22062017_014745 PNOHT600622001016403_22062017_014745 PNOHT600622001016402_22062017_014745 PNOHT600622001016401_22062017_014744 PNOHT600622001016407_22062017_014745



--!>