ตำรวจมหาวิทยาลัยรังสิตกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่

กรกฎาคม 25, 2017 05:42 โดย opwnews
0
987

Capture4

เนื่องจากสภาพปัญหาอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มีแนวโน้มที่รุนแรง และมีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น การป้องกัน แก้ไขปัญหาอาชญากรรมของเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งมีข้อจำกัดอยู่หลายประการ อาจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ชุมชนจึงมีความสำคัญต่อความสำเร็จในการป้องกันแก้ไขปัญหาอาชญากรรม ทั้งในแง่มุมของการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร การแจ้งเหตุด่วนเหตุร้าย การร่วมออกตรวจตรารักษาความปลอดภัยให้แก่ชุมชน หรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจในด้านต่างๆ นอกจากนี้ ประชาชนยังถือว่าเป็นแหล่งข้อมูลที่สำคัญที่สุดในการประเมินผลการปฏิบัติของหน่วยงานของรัฐ และถือเป็นตัวชี้วัดความสำเร็จหรือความล้มเหลวในการให้บริการของหน่วยงานของรัฐ เพราะประชาชนนั้นเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงต่อนโยบายหรือการปฏิบัติงาน

แนวคิดตำรวจยุคใหม่ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วม สนับสนุนภารกิจของตำรวจเสมือนเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการทำงานควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยน พัฒนารูปแบบการทำงานให้เท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น (กฤษณพงค์, เอนก และเสกสัณ, 2555)  ดังนั้น หากการทำงานของตำรวจ ได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชน ประชาชนและภาคประชาสังคม ก็จะยิ่งส่งผลดีต่อการรักษาความสงบสุขเรียบร้อยของสังคมโดยรวม หากเปรียบเทียบกับระบบงานตำรวจในต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว พบว่า ประเทศเหล่านั้น มุ่งเน้นให้ความสำคัญกับประโยชน์ของประชาชนโดยรวม มีการศึกษา พัฒนาระบบการทำงานของตำรวจ เน้นการให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอาชญากรรมมากกว่าการใช้กำลัง และใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจแต่เพียงอย่างเดียว (Angel, 1971; Bayley, 2002) โดยแท้ที่จริงแล้ว ประชาชนและชุมชนคือกำลังสำคัญในการปกป้อง รักษาความปลอดภัยในชุมชน ตำรวจกับชุมชนจึงเป็นการทำงานร่วมกันเชิงประชาธิปไตยซึ่งต้องการความร่วมมือจากผู้ปกครอง พ่อค้า นักธุรกิจ ประชาชนและหน่วยงานต่างๆ ในท้องถิ่น มาร่วมกันรับผิดชอบต่อชุมชนของตนเอง ลดความหวาดกลัวต่ออาชญากรรม และยังต้องสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนได้ด้วย สิ่งที่ควรให้ความสำคัญคือการลดความหวาดกลัวต่ออาชญากรรมเพื่อที่จะทำให้ประชาชนกลับมาดำเนินชีวิตตามปกติและรู้สึกมั่นคงและปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่ตั้งอยู่ในชุมชนเมืองเอก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงยุติธรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจสภ.ปากคลองรังสิต กองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี ทหาร ฝ่ายปกครอง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เพื่อช่วยกันสอดส่อง ดูแล ป้องกันอาชญากรรม รักษาความสงบเรียบร้อยภายในชุมชนเมืองเอก จึงได้จัดตั้ง “ตำรวจมหาวิทยาลัยรังสิต” ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล และคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติที่สนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและองค์กรภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจการตํารวจ ทั้งในส่วนที่เกี่ยวกับนโยบาย  งบประมาณ  และอาสาสมัคร  ตลอดจนการสนับสนุนการปฏิบัติงานตํารวจในพื้นที่เพื่อความสงบสุขของคนในชุมชน

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ พันตำรวจโท ดร.กฤษณพงค์ พูตระกูล                                                     ประธานกรรมการสถาบันอาชญาวิทยาและการบริหารงานยุติธรรม มหาวิทยาลัยรังสิต

Capture6 Capture3




--!>