จากดินแดนฟอสซิลดึกดำบรรพ์ สู่มหานครแห่งวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง เทศกาลโคราชศิลปะและวัฒนธรรมนานาชาติ 2561
วันนี้ (23 ม.ค.61) สำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมกับ จังหวัดนครราชสีมา และสำนักงานอุทยานธรณีโคราช (Khorat Geopark) จัดพิธีแถลงข่าวเทศกาลโคราชศิลปะและวัฒนธรรมนานาชาติ 2561 : KORAT International Arts and Culture Festival 2018
“จากดินแดนฟอสซิลดึกดำบรรพ์ สู่มหานครแห่งวัฒนธรรมอันรุ่งเรือง” “Through Fossil Sites to the Prosperous Culture City” ณ ห้องประชุม ดร.เศาวนิต เศาณานนท์ โดยมี นายศักดิ์ฤทธิ์ สลักคำ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานการแถลงข่าว พร้อมด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.วิเชียร ฝอยพิกุล อธิการบดี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ประเทือง จินตสกุล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยไม้กลายเป็นหินฯ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ณัฐกิตติ์ อินทร์สวรรค์ ผู้อำนวยการสำนักศิลปะและวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา ร่วมการแถลงข่าว
เทศกาลโคราชศิลปะและวัฒนธรรมนานาชาติ 2561 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2561 เวลา 18.00-23.00 น. ณ ลานอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา ภายในงานพบกับ ขบวนคานิวัล การแสดงศิลปะและวัฒนธรรม จาก 14 ประเทศทั่วโลก คือ ประเทศบังคลาเทศ จีน กานา กรีซ ศรีลังกา รัสเซีย อินเดีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย เนปาล กัมพูชา ฟิลิปปินส์ บรูไน และการแสดงศิลปวัฒนธรรม 4 ภาคของประเทศไทย ชมนิทรรศการ KHORAT GEOPARK มหานครแห่ง
บรรพชีวินโลก และในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2560 ได้จัดให้มีการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรมนานาชาติเชิงวิชาการ ณ มหาวิทยาลัยราชภัฏนครราชสีมา
การแถลงข่าวครั้งนี้ จัดขึ้นเพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนให้ประชาชนชาวจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียง ได้รับทราบและเข้าร่วมชมงาน พร้อมทั้งเพื่อเผยแพร่กิจกรรมบริการวิชาการด้านการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรมต่อสาธารณชน โดยได้รับความร่วมมือจากประเทศต่างๆ กว่า 14 ประเทศทั่วโลก อันเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ศิลปะและวัฒนธรรมร่วมกันระดับชาติ อีกทั้งยังเป็นการถ่ายทอดเรื่องราวทางวัฒนธรรมสู่การพัฒนาอุทยานธรณีโคราชให้เป็นไปตามแนวทางยูเนสโก นั่นคือ การอนุรักษ์ การศึกษา และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยชุมชนท้องถิ่นมีส่วนร่วมสำคัญในการดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงธรณีวิทยา โดยนำเอกลักษณ์ที่โดดเด่น ได้แก่ อุทยานธรณีโคราช ถือเป็น “ดินแดนแห่ง 1 เขา 1 หิน 1 ป่า 1 ลำ 1 วัฒนธรรม และ 3 ซาก” มาบูรณาการให้สอดคล้องกับศิลปวัฒนธรรมกับมรดกทางธรณีวิทยา อันเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในจังหวัดนครราชสีมา สู่การผลักดันให้เป็นเทศกาลระดับชาติ และพัฒนาสู่ระดับสากลต่อไป