นวัตกรรมหุ่นยนต์เพื่อการฟื้นฟูผู้สูงอายุและผู้พิการ วิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต คว้า 4 รางวัล จากการประกวดรางวัลผลงานนวัตกรรมระดับประเทศ
ทีมนักศึกษาและอาจารย์จากห้องวิจัยหุ่นยนต์เพื่อการฟื้นฟูผู้สูงอายุและผู้พิการ วิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้รับ 4 รางวัล จากการประกวด Robot Technology for Ageing Care ในงาน MDA Congress ซึ่งจัดโดย สมาคมอุปกรณ์การแพทย์ไทย และการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2561 กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว ในงาน “มหกรรมวิจัยแห่งชาติ 2561” จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ
รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า จากการที่ท่านอธิการบดี ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ มีดำริในเรื่องการปฏิรูปการศึกษาของมหาวิทยาลัยรังสิตในรูปแบบของ RSU Model “Innovative Startup Entrepreneurship” By Integrative and Regenerative Competency Based Technology Transformation เน้นพัฒนาสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ก้าวนำกระแสคลื่นการเปลี่ยนแปลงของโลกนั้น ทางวิทยาลัยฯ ได้เน้นแนวทางการจัดการศึกษาในรูปแบบที่ทำให้ โลกแห่งการเรียนรู้ โลกแห่งการทำงาน และโลกแห่งอนาคต ต้องเป็นโลกเดียวกัน โดยเน้นการจัดกระบวนการเรียนการสอนในรูปแบบ Project & Research Based Learning โดยมีห้องวิจัยทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์จำนวน 7 ห้องวิจัย เพื่อพัฒนาสมรรถนะของผู้เรียนโดยมีคณาจารย์เป็นโค้ชหรือพี่เลี้ยง
สำหรับห้องวิจัยหุ่นยนต์เพื่อการฟื้นฟูผู้สูงอายุและผู้พิการนั้น เป็นห้องวิจัยที่เน้นการพัฒนาหุ่นยนต์เพื่อการฟื้นฟูผู้สูงอายุและผู้พิการเพื่อตอบสนองการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุของประเทศไทย โดยห้องวิจัยดังกล่าวมีผลงานวิจัยและนวัตกรรมออกมาจำนวนหลายผลงาน สำหรับผลงานที่ได้รับรางวัลดังกล่าว เป็นผลงานที่มีชื่อว่า “รถเข็นไฟฟ้าอัฉริยะ” สำหรับการช่วยเหลือหรือฟื้นฟูการเคลื่อนที่ของผู้สูงอายุหรือผู้พิการ ที่สามารถเคลื่อนที่ได้รอบทิศทาง มีระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานสามารถขับเคลื่อนและเลี้ยวในที่แคบๆ ได้ด้วยเทคโนโลยีของล้อแบบแมกคานั่ม เป็นผลงานที่ได้รับทุนสนับสนุนการทำวิจัยจาก สถาบันวิจัย มหาวิทยาลัยรังสิต โดยเจ้าของผลงานประกอบด้วย ว่าที่ร้อยตรีพิชิตพล โชติกุลนันทน์ อาจารย์เจ้าของผลงาน และนายสุริยา ทองวรรณ นางสาวนฤมล อินทพุก นางสาวพูนชนก กระมุท และนางสาวโชติรส ชวโรกร นักศึกษาผู้ร่วมทีมวิจัยและพัฒนา โดยมี รศ.นันทชัย ทองแป้น รศ.ดร.มนัส สังวรศิลป์ เป็นที่ปรึกษา โดยรางวัลที่ได้รับจากการประกวด Robot Technology for Ageing Care ในงาน MDA Congress ประกอบด้วยเงินรางวัล 50,000 บาท และใบประกาศนียบัตร
นอกจากนี้ ยังได้รับอีก 3 รางวัล จากการประกวดผลงานนวัตกรรมสายอุดมศึกษา ประจำปี 2561 กลุ่มเครื่องมืออุปกรณ์อัฉริยะ ปัญญาประดิษฐ์ และเทคโนโลยีสมองกลฝังตัว ซึ่งจัดโดย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประกอบด้วย
- รางวัลเหรียญทอง ระดับคะแนนรวมของผลงาน
- รางวัลผลงานนวัตกรรม ระดับดีเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และใบประกาศนียบัตร
- รางวัลการเขียนข้อเสนอโครงการนวัตกรรม ระดับดีเงินรางวัล 10,000 บาท พร้อมโล่ และใบประกาศนียบัตร
“และนี่คืออีกหนึ่งผลลัพธ์ ของการปฏิรูปการศึกษาของวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิตในรูปแบบ Transformative Learning ที่ต้องทำให้ “โลกของการเรียนรู้ โลกแห่งการทำงาน และโลกแห่งอนาคต เป็นโลกเดียวกัน” ซึ่งเป็นไปตามปณิธานการปฏิรูปการศึกษาของท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ที่เน้นในเรื่องที่ว่า “มหาวิทยาลัยรังสิต ไม่ใช่ที่สอนหนังสือ แต่เป็นที่เรียนรู้จากประสบการณ์จริงในรูปแบบของ RSU Model Innovative Startup Entrepreneurship” By Integrative and Regenerative Competency Based Technology Transformation เน้นพัฒนาสมรรถนะและทักษะที่จำเป็นสำหรับศตวรรษที่ 21 ก้าวนำกระแสคลื่นการเปลี่ยนแปลงของโลก” คณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวปิดท้าย