นักวิจัยหนุนอำเภอ เชื่อมโจทย์ชุมชน สู่ยุทธศาสตร์จังหวัด

พฤษภาคม 23, 2019 11:41 โดย opwnews
0
494

นักวิจัยหนุนอำเภอ เชื่อมโจทย์ชุมชน สู่ยุทธศาสตร์จังหวัด

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

IMG_9312

นักวิจัย สกสว. ชี้แนวทางการทำให้แผนชุมชนสามารถเชื่อมต่อกับแผนยุทธศาสตร์จังหวัด เพื่อมีงบประมาณลงมาแก้ปัญหาหรือตอบความต้องการของชุมชนนั้นๆ ระบุ อำเภอ คือตัวเชื่อมสำคัญ

จากการประชุมรับฟังความคิดเห็นเวที ”จากแผนยุทธศาสตร์ชาติ-จังหวัด สู่แผนปฏิบัติการที่ตอบสนองการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น:ฝันไปหรือทำได้จริง” ซึ่งเพื่อนำเสนอข้อค้นพบจากโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการ : การพัฒนาตัวแบบสนับสนุนการจัดทำแผนและโครงการพัฒนาพื้นที่ระดับจังหวัด เพื่อรองรับงบประมาณเชิงพื้นที่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ที่มีโครงการจัดทำแผนพัฒนาพื้นที่นำร่องใน 9 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ กำแพงเพชร เลย อุบลราชธานี ชัยนาท นครปฐม ระยอง พัทลุงและตรัง นักวิจัยได้เสนอกลไกที่จะทำให้ทำให้ความต้องการในระดับหมู่บ้านหรือประชาคมถูกนำไปบรรจุหรือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์จังหวัด

นายบุญเยี่ยม เหลาสะอาด นักวิจัยในโครงการฯ เปิดเผยว่า งานวิจัยนี้เป็นการตรวจสอบว่าปัจจัยความสำเร็จในการพัฒนาพื้นที่ เป็นอย่างไร มีเงื่อนไขอะไรบ้างที่เป็นอุปสรรคและโอกาส ซึ่งจากการวิเคราะห์สถานการณ์และช่องว่างในการทำแผนพัฒนาจังหวัดและแผนชุมชน โดยใช้เครื่องมือ Value Chain และ ไตรสิกขา (3-SIC-KA) ในการประเมินกระบวนการทำแผนและพัฒนาโครงการที่มาจากความต้องการของประชาชน พบว่ามีช่องว่างของการเคลื่อนแผนหรือความต้องการระดับพื้นที่มาสู่ระดับจังหวัดจนไม่สามารถถูกร้อยไปสู่ยุทธศาสตร์จังหวัดได้โดยตรงหลายประการ อาทิ คณะกรรมการจัดทำแผนจังหวัดไม่ได้มาจากทุกภาคส่วน ที่ทำให้การวิเคราะห์ปํญหาหรือแนวทางอาจไม่ครอบคลุมในบางด้าน, ภาคประชาชนที่ขาดความเข้าใจในเงื่อนไขการทำงบประมาณ ที่ทำให้แผนงานหรือเสนอความต้องการของของชุมชนจึงไม่ถูกนำเข้าสู่การพิจารณา, ความแตกต่างของภาษาที่ใช้ระหว่างภาษาราชการกับภาษาชาวบ้าน ซึ่งอาจทำให้การตีความข้อเสนอของชุมชนมีคลาดเคลื่อน เกิดการดำเนินการที่ไม่ตรงกับความต้องการที่แท้จริงของคนในพื้นที่ ขณะที่ชาวบ้านก็อาจไม่เข้าใจในสิ่งที่ภาครัฐ เข้ามาสอบถาม ชี้แจง หรือให้คำตอบ นอกจากนี้ยังมีปัญหาความไม่สอดคล้องหรือไม่ตรงกันของข้อมูลที่จะต้องนำใช้ประกอบการพิจารณา ซึ่งการสร้างกลไกการทำงานร่วมกันจากทุกฝ่าย จะเป็นส่วนสำคัญที่จะทำให้ข้อจำกัดเหล่านี้ลดน้อยลงหรือหมดไป

“เราพบว่า จริงๆ แล้วทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสถาบันวิชาการ ภาคประชาสังคม ภาคประชารัฐ จะต้องมาช่วยนำนโยบายของภาครัฐมาเชื่อมกับความต้องการของพื้นที่และชุมชน ซึ่งการเชื่อมร้อยกันเป็นเครือข่ายจะทำให้เกิดศักยภาพในการขับเคลื่อนได้ดีกว่า โดยในส่วนของภาคประชาสังคมซึ่งไม่ได้มีสถานะเป็นหน่วยรับที่จะรับงบประมาณได้ด้วยตัวเอง ก็อาจต้องหารูปแบบที่เป็นนิติบุคคลมารองรับ พร้อมกับที่ตัวชุมชนเองก็ต้องปรับตัวเองให้มีศักยภาพในการรองรับทุนนวัตกรรมเพื่อตอบโจทย์ของพื้นที่ตัวเองที่จะเข้ามาในพื้นที่ ขณะที่กลไกสนับสนุนทั้งหน่วยวิชาการและสถาบันการศึกษาจะต้องสร้างโอกาสและหาช่องทางให้กับตัวเอง ในการที่จะเสนอตัวเข้ามาเป็นตัวเชื่อมต่อระหว่างประชาสังคมกับภาครัฐ เช่น เสริมบทบาทภาคประชาสังคมให้เข้มแข้ง การติดตามประเมินผล เป็นต้น”

ในส่วนการปรับตัวของกลไกภาครัฐนั้น นายบุญเยี่ยม กล่าวว่า ภาครัฐต้องต้องให้ความสนใจและความสำคัญกับแผนที่มาจากชุมชนให้มากขึ้น มีการปรับแก้กฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคต่อการนำแผนชุมชนมาประกอบการจัดทำยุทธศาสตร์จังหวัด และการทำให้ยุทธศาสตร์จังหวัดสามารถตอบโจทย์ในระดับพื้นที่ได้ ก็เป็นสิ่งที่กลไกระดับจังหวัดต้องเปิดรับ โดยตัวงานวิจัยเสนอว่า หนึ่งในตัวเชื่อมต่อที่ดีก็คือ “อำเภอ”

IMG_9210

“เรามองว่าอำเภอเป็นจุดเชื่อมที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด เพราะอำเภอมีกฎระเบียบรองรับการทำงานร่วมกับจังหวัดในระดับพื้นที่ แต่ปัญหาตอนนี้คืออำเภอไม่มีอำนาจ ไม่มีงบประมาณ ดั้งนั้นน้ำหนักที่จะลงไปให้เกิดผลกระทบระดับพื้นที่ค่อนข้างน้อยขณะเดียวกันแผนระดับต่างๆ ควรที่จะมีระดับความต่างของการสนับสนุน เช่น ชุมชนเองน่าจะมีการจัดทำโครงการสำรองของตัวเองไว้ ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในด้านงบประมาณ ควรที่จะมีงบประมาณ ที่เป็นปัจจุบันต่อปัญหาเฉพาะหน้า ต่อปัญหาเร่งด่วน และโครงการควรมีขนาดเล็ก ส่วนแผนฟังชั่น น่าจะตอบโจทย์ระยะยาว เน้นงานพัฒนาเป็นงานเชิงยุทธศาสตร์ ส่วนงบจังหวัด ซึ่งเราดูปัจจุบันไม่ได้มีเยอะมากนัก แต่ควรเป็นงบที่จะไปเติบเต็ม เก็บตกงบที่มันหลุด และเปิดประเด็นใหม่คือเรื่องของการปรับยุทธศาสตร์จังหวัดความความต้องการของพื้นที่”

IMG_9137

ด้าน ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการฝ่ายบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สกสว. กล่าวว่า นอกจากงานวิจัยได้นำเสนอช่องว่างของการทำแผนยุทธศาสตร์จังหวัดแล้ว งานวิจัยในระดับพื้นที่ทั้ง 9 จังหวัด ได้ร่วมกับชุมชนในการออกแบบโครงการระดับพื้นที่ซึ่งมีศักยภาพที่จะพัฒนาเป็นโปรแกรมเพื่อรับทุนหรืองบประมาณได้อย่างเป็นรูปธรรมแล้ว เช่น ประชาสังคมในจังหวัดเชียงใหม่มีแผนสร้างเศรษฐกิจใหม่จากทรัพยากรไม้ไผ่ จังหวัดสตูลทำเรื่องการแผนการท่องเที่ยวชุมชนโดยใช้หมู่เกาะลิบงเป็นจุดเริ่มต้น ขณะที่จังหวัดระยองคิดโครงการพัฒนาข้อมูลระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการพัฒนาคุณภาพมังคุด เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะเป็น “ตัวแบบ” เพื่อไปสนับสนุนการจัดทำแผนและโครงการพัฒนาพื้นที่ระดับจังหวัดที่รองรับงบประมาณเชิงพื้นที่ และแผนยุทธศาสตร์ของจังหวัดที่มีศักยภาพต่อไป

///////////////////////////////////////////////




--!>