ปทุมธานี นศ.มรภ.วไลยอลงกรณ์ คว้ารางวัล เชิดชูเกียรติ “100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร”
ปทุมธานี นศ.มรภ.วไลยอลงกรณ์ คว้ารางวัล เชิดชูเกียรติ “100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร”
นายกฤตนันท์ ในจิต นักศึกษาชั้นปีที่ 4 นักศึกษาวิชาภาษาไทยเพื่อนวัตกรรมการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คว้ารางวัลเชิดชูเกียรติ “100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร” เนื่องในงานวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2562 กลุ่มเยาวชนต้นแบบทางด้านการใช้ภาษาไทย ณ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันศุกร์ที่ 26 กรกฎาคม 2562 สำหรับรางวัลดังกล่าวเป็นรางวัลที่ทางคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทาลัยเกษตรศาสตร์จัดขึ้น เนื่องในงาน เชิดชูเกียรติ “100 ปี ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร” และในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ ประจำปีพุทธศักราช 2562 เพื่อเชิญชูเกียรติบุคคลผู้เป็นต้นแบบการใช้ภาษาไทยหรือใช้ภาษาไทยในเฃิงสร้างสรรค์จนเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวาง อีกทั้งยังเป็นการรำลึกถึง ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านวงการการศึกษาของไทย สาขาวิชาภาษาไทย จารึกภาษาไทย และภาษาตะวันออก โดยในปี พ.ศ.
2562 นี้ นับเป็นวาระสำคัญในการครบรอบอายุ 100 ปี และเป็นการหวนรำลึกถึงคุณความดีของศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร ที่มีคุณูปการอย่างสูงยิ่งต่อมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และประเทศไทย นายกฤตนันท์กล่าวถึง รางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ว่า “ถือเป็นเกียรติต่อตนเองอย่างสูงยิ่ง เพราะถ้าใครเอ่ยถึงอาจารย์ปู่ (ศาสตราจารย์ ดร.ประเสริฐ ณ นคร) ย่อมรู้ดีเป็นอย่างยิ่งว่าอาจารย์ท่านเป็นอันดับหนึ่งของประเทศไทยด้วยการเป็นอดีตนายกราชบัณฑิตยสถาน และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติปี พ.ศ. 2531 เป็นผู้ประพันธ์คำร้องภาษาไทยของเพลงพระราชนิพนธ์ชะตาชีวิต ใกล้รุ่ง ในดวงใจนิรันดร์ แว่ว อีกทั้งเป็นที่ยอมรับและอ้างถึงในวงวิชาการ
อย่างกว้างขวาง มีผลงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสารทั้งภายในและต่างประเทศมากกว่า 100 บทความ ในฐานะที่ผมเป็นเยาวชนที่มีความสนใจเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับศาสตร์ทางด้านภาษาไทย และมีความสนใจ ในการอ่านจารึกโบราณในสมัยต่าง ๆ ที่ปรากฏในประเทศไทย และท้องถิ่น และเป็นผู้ที่ชื่นชอบศึกษาการเขียนอักษร การปริวรรตอักษร จึงมีอาจารย์ปู่เป็นต้นแบบ และอาจารย์เป็นผู้ที่ดำรงตนเป็นแบบอย่างในทุก ๆ ด้าน อาทิ การดำเนินชีวิตวิถีพอเพียง การสอน และการอุทิศตนเพื่อสังคม การได้รับคัดเลือกและเชิดชูเกียรติเป็นเยาวชนต้นแบบทางด้านการใช้ภาษาไทย ในวาระโอกาสนี้ ถือเป็นความภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ครั้งหนึ่งได้รับรางวัลที่ปรากฏชื่ออาจารย์ที่ตนเคารพนับถือ และยกย่อง ถึงแม้ว่าอาจารย์จะถึงอนิจกรรมไปในเวลาที่ไม่นานนัก เพียง 2 เดือนครึ่งก่อนถึงวันงานก็ตาม คุณงามความดีของท่านจะยังปรากฏอยู่ในสังคมไทยตลอดไป จึงขอถือโอกาสครั้งนี้ที่ตนได้รับรางวัลดังกล่าว เป็นเครื่องเชิดชูเกียรติคณาจารย์ในสาขาวิชาภาษาไทยเพื่อนวัตกรรมการสื่อสาร คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดทั้งครู อาจารย์ที่เคยสอนสั่งในศาสตร์ทางด้านภาษาไทย ที่มีความวิริยะมอบความรู้ ทางด้านวิชาการ และการดำเนินชีวิตจวบจนถึงความสำเร็จในวันนี้ และขอฝากความปรารถนาดีไปถึงเยาวชนไทยรุ่นใหม่ทุกคน ให้ความสำคัญในด้านการใช้ภาษา “เชิงสร้างสรรค์” คือ ใช้ภาษาไทยให้เหมาะควร ถูกกาลเทศะ และลำดับความสำคัญในการใช้ภาษาไทยอย่างระมัดระวัง เพียงเท่านี้ก็เป็นส่วนช่วยให้สิ่งสำคัญของชาติไทย นั้นก็คือภาษาไทย ให้เป็นภาษาประจำชาติไทยตราบนานเท่านาน
สหรัฐ แก้วตา หน.ข่าว ปทุมธานีรายงาน