ปทุมธานี มรภ.วไลยอลงกรณ์ เปิดบ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ซึบซับแนวทางการดำเนินชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง
ปทุมธานี มรภ.วไลยอลงกรณ์ เปิดบ้านให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ซึบซับแนวทางการดำเนินชีวิตเศรษฐกิจพอเพียง
มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นมหาวิทยาลัยที่มีรากฐานมาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2475 โดยเป็นมหาวิทยาลัยที่ยึดหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง และสร้างนวัตกรรมเพื่อพัฒนาท้องถิ่นให้มั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ผศ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัย มีแหล่งเรียนรู้ตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งเป็นปรัชญาที่ได้รับการยอมรับกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันนำมาสู่แนวทางการพัฒนาประเทศให้ยั่งยืน ด้วยเหตุนี้ มหาวิทยาลัยได้พัฒนาพื้นที่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้และเผยแพร่ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมหาวิทยาลัยได้ให้ บุคลากร นักศึกษา ลงปฏิบัติจริง โดยใช้หลักการเกษตรทฤษฎีใหม่ ประกอบด้วยพื้นที่นา, พื้นที่เพาะปลูก, เลี้ยงสัตว์, พื้นที่กักเก็บน้ำ การเพาะเลี้ยงปลาน้ำจืด และพื้นที่พักอาศัย ท่ามกลางบรรยากาศธรรมชาติที่เงียบสงบ นอกจากจะใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ ของบุคคลากร นักศึกษาแล้ว มหาวิทยาลัยยังได้เปิดโอกาส ให้หน่วยงาน รวมถึงผู้ที่สนใจ ได้เข้ามาเรียนรู้เชิงปฏิบัติจริง นอกจากสนุกแล้วยังได้ความรู้กลับไปด้วย เช่น การเลี้ยงไก่ เลี้ยงเป็ด การเพาะเลี้ยงพืชผักสวนครัว รั้วกินได้ แปลงเลี้ยงเมล่อน การปักดำนา เป็นต้น
นอกจากนี้ มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ของเรา ยังมีห้องนิทรรศการ ซึ่งเป็นแหล่งศึกษาหาความรู้ พระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และ ในส่วนของนิทรรศราชภัฏ เพื่อศึกษาถึงประวัติของสมเด็จพระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ องค์ประทานกำเนิดมหาวิทยาลัย พร้อมทั้งได้ศึกษาประวัติความเป็นมาของมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยจะมีวิทยากร ให้ความรู้ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย หน่วยงานใด หรือท่านใดสนใจที่จะเข้ามาศึกษาหาความรู้ สามารถติดต่อมาได้ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ อธิการบดีกล่าว น.ส.วิราภรณ์ เกตุอรุณ คุณครูโรงเรียนวัดธรรมนาวา จ.พระนครศรีอยุธยา กล่าวว่า รู้จักโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืช มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ เพราะมีเพื่อนอยู่ในมหาวิทยาลัย ได้ขับรถผ่าน และเห็นทางfacebookของเพื่อน เห็นว่าเป็นสถานที่ที่เหมาะแก่การเรียนรู้ของนักเรียนมากๆ จึงได้พานักเรียนที่ตัวเองรับผิดชอบ เข้ามาศึกษาหาความรู้ พร้อมทั้งได้นำความรู้ที่ได้รับกลับไปทำที่บ้าน และได้บอกต่อให้กับคนในครอบครัว ชุมชนที่อยู่ใกล้เคียงให้ได้รับประโยชน์ด้วย นายประสงค์ มงคล สาขาการพัฒนาชุมชน คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ กล่าวว่า ผมเข้ามาศึกษาหาความรู้ทางการเกษตรจากศูนย์อนุรักษ์พันธุกรรมพืช เพราะมีความหลากหลายของพันธุ์พืช สามารถสอบถามหาความรู้ได้ทั้งอาจารย์ และพี่ๆเจ้าหน้าที่ และได้นำความรู้ที่ได้รับกลับไปใช้กับการปลูกพืชผักสวนครัวที่บ้าน นอกจากนั้นยังเรียนรู้การทำปุ๋ยชีวภาพด้วย.
สหรัฐ แก้วตา หน.ข่าว ปทุมธานี รายงาน