ศาลยุติธรรมให้ศาลชั้นต้นเลื่อนคดีได้ตลอดเดือน ก.พ. ช่วงโควิด พร้อมเสริมจุดบริการ One Stop Service-Drive Thru “โฆษกศาลยุติธรรม” ย้ำเตือน การ์ดต้องไม่ตก ทุกคนร่วมป้องกัน-ลดเสี่ยงแพร่เชื้อ

มกราคม 25, 2021 12:46 โดย opwnews
0
767

227027

วันนี้ (25 ม.ค.64) นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยว่า จากที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ระลอกใหม่ยังคงพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่องโดยยังไม่มีแนวโน้มจะคลี่คลายลง  ในส่วน “คณะอนุกรรมการศึกษา ติดตามและแก้ไขปัญหาการบริหารจัดการคดีภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019”  ที่มีนายชาญณรงค์ ปราณีจิตต์ ผู้พิพากษาศาลฎีกา เป็นประธานฯ ซึ่งได้ติดตามประเมินสถานการณ์ของการแพร่ระบาดไวรัสโควิดในส่วนที่เกี่ยวข้องกับศาลยุติธรรมมาโดยตลอดนับตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของเชื้อโควิดในไทยที่เริ่มต้นครั้งแรกต้นปี พ.ศ.2563  ได้ประชุมหารือเป็นประจำทุกเดือนเพื่อจะพิจารณามาตรการต่าง ๆ ที่นำมากำหนดเป็นแนวปฏิบัติสำหรับหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมทั่วประเทศ เพื่อบริหารจัดการคดีไม่ให้กระทบการพิจารณาพิพากษาของศาล และไม่เป็นอุปสรรคต่อคู่ความในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด  โดยคณะอนุกรรมการศึกษาฯ จะประกาศแนวปฏิบัติบริหารจัดการคดีออกมาทุก ๆ เดือนตามที่เห็นสมควรต่อความจำเป็นในสถานการณ์ขณะนั้น  ซึ่งล่าสุดได้ประกาศแนวปฏิบัติบริหารจัดการคดีฉบับที่ 4 สำหรับช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 15 ม.ค.-28 ก.พ.64 นี้ หลังจากที่ก่อนหน้านี้เมื่อเดือน ม.ค.ที่ผ่านมา ได้ประกาศแนวปฏิบัติบริหารจัดการคดีฉบับที่ 3 ออกมา

โดยแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีในสถานการณ์การแพร่ระบาดฯ ฉบับที่ 4 นั้นในด้านการจัดการคดี เห็นควรให้ศาลชั้นต้น เลื่อนคดีจัดการพิเศษ (คดีที่ไม่มีความยุ่งยากซับซ้อน และมีแนวโน้มที่จะพิจารณาให้เสร็จได้ภายในนัดเดียวหรือใน 1 วัน เช่น คดีแพ่งมโนสาเร่ คดีผู้บริโภค) , คดีสามัญ (คดีที่ไม่ใช่คดีจัดการพิเศษ ซึ่งต้องสืบพยานหลักฐานของคู่ความและไม่สามารถนั่งพิจารณาคดีให้เสร็จได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว) และคดีสามัญพิเศษ (คดีสามัญที่มีความยุ่งยากสลับซับซ้อน มีพยานหลักฐานที่ต้องนำสืบจำนวนมากไม่สามารถนัดสืบต่อเนื่องกันไปจนเสร็จต้องสืบเป็นช่วงๆ ละ 2-4 วัน) ที่เคยนัดพิจารณาไว้ระหว่างวันที่ 1-28 ก.พ.64 นี้ ออกไปก่อน โดยยังไม่ต้องกำหนดวันนัดใหม่ ทั้งนี้ให้แจ้งคู่ความ และพยานที่ศาลมีหมายเรียกทราบด้วย และยังให้ศาลชั้นต้นทั่วประเทศ พิจารณาที่จะงดดำเนินการเกี่ยวกับการออกหมาย และส่งหมายแจ้งนัดสำหรับคดีทุกประเภท ที่ผู้รับหมายมีภูมิลำเนาหรือที่พักอาศัยอยู่ในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) ด้วย เว้นแต่ในกรณีมีเหตุจำเป็นก็ให้ส่งด้วยไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับ สำหรับศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกาที่มีนัดพิจารณาระหว่างวันที่ 1-28 ก.พ.64 ก็อาจเลื่อนคดีได้ตามความเหมาะสม

อย่างไรก็ดีในการให้พิจารณาเลื่อนคดีได้ตลอดทั้งเดือน ก.พ.นั้น มีข้อสังเกตด้วยว่าหากเลื่อนคดีไปแล้วอาจทำให้คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเสียหายก็ให้คำนึงถึงความยินยอมของคู่ความด้วย และสำหรับคดีประเภทที่ต้องสืบพยานประกอบคำรับสารภาพ หรือนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีที่จำเลยต้องขังก็สามารถดำเนินการผ่านระบบการประชุมทางจอภาพ (VDO Conference) ระหว่างศาลกับเรือนจำ โดยให้ศาลคำนึงถึงจำนวนคดี จำนวนผู้เกี่ยวข้องในการดำเนินกระบวนพิจารณาและความพร้อมของระบบนั้นด้วย ทั้งนี้สำหรับกลุ่มคดีจัดการพิเศษที่รับฟ้องใหม่ ควรให้กำหนดวันนัดพิจารณาเดือน เม.ย.-พ.ค.64 เป็นต้นไปโดยให้นัดต่อจากคดีที่ได้เลื่อนมา

ส่วนการบริหารจัดการบุคลากร ทั้งในศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกา ก็ยังคงให้พิจารณาเรื่องการปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้งของหน่วยงาน หรือ Work from home สำหรับผู้พิพากษาที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในเวรด้านต่าง ๆ และในส่วนของข้าราชการศาลยุติธรรมได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น

227022

สำหรับมาตรการในห้องพิจารณา ย้ำเตือนให้จัดระยะห่างบุคคลระยะ 1-1.5 เมตร และจัดให้เจ้าหน้าที่บัลลังก์ (ผู้ทำหน้าที่เกี่ยวกับรายงานกระบวนพิจารณาเสนอศาล) อยู่ในบริเวณที่เหมาะสม เช่น กำหนดเส้นแบ่งพื้นที่ในห้องพิจารณา เช่นเดียวกับจุดรับบริการหรือเคานท์เตอร์บริการงานด้านต่าง ๆ  ก็ให้มีการขีดเส้นแบ่งพื้นที่ ให้มี Social Distancing ระหว่างเจ้าหน้าที่ศาลกับผู้มาติดต่อราชการด้วย ด้านการให้บริการผู้มาติดต่อราชการก็จัดให้มีจุดบริการเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือ One Stop Service และกล่องรับเอกสารแบบ Box Thru เพื่อให้คู่ความหรือทนายความสามารถยื่นคำคู่ความหรือเอกสารใด ๆ รวมทั้งการจัดบริการให้กับผู้มาติดต่อโดยไม่ต้องลงจากรถแบบ Drive Thru ด้วยสำหรับศาลที่มีทางเดินรถสะดวกกว้างขวาง ขณะที่เรื่องการติดต่อทุกหน่วยงานต้องจัดให้มีหมายเลขโทรศัพท์ หรือช่องทางการสื่อสารเพื่อให้ประชาชนสอบถามข้อมูลได้โดยให้ประชาสัมพันธ์แก่ประชาชนทราบผ่านที่เว็บไซต์ของหน่วยงานนั้น ๆ

227024 227023

นอกจากนี้ด้านการบริหารจัดการอาคารสถานที่ กรณีที่กำหนดให้จัดกิจกรรมที่ต้องมีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก ให้พิจารณาเลื่อนการจัดกิจกรรมออกไปก่อนในช่วงเวลานี้เพื่อสอดรับกับนโยบายของภาครัฐในการป้องกันแก้ไขและควบคุมไม่ให้โควิดแพร่ระบาดออกไปในวงกว้าง ขณะที่ด้านการบริหารจัดการเกี่ยวกับมาตรการให้คำแนะนำและให้ความช่วยเหลือแก่บุคลากรในหน่วยงานนั้น กรณีที่หน่วยงานได้ปรากฏข้อเท็จจริงว่า มีบุคลากรในหน่วยงานมีความเสี่ยงที่อาจติดเชื้อโควิด ก็ขอให้แจ้งข้อมูลมาที่ “ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” สำนักการแพทย์ สำนักงานศาลยุติธรรม เพื่อจัดเก็บรวบรวมข้อมูล และให้ศูนย์ปฏิบัติการป้องกันการแพร่ระบาดฯ ทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการให้คำแนะนำปรึกษา และให้ความช่วยเหลือในการตรวจหาเชื้อ  การรักษาแก่บุคลากรของหน่วยงานในสังกัดสำนักงานศาลยุติธรรมที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ของโรคดังกล่าวด้วย

“ศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม ยังคงมาตรการเข้มงวดในการป้องกัน และลดความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ไว้อย่างสม่ำเสมอ เพื่อสร้างความมั่นใจด้านสุขอนามัยให้ทั้งคู่ความที่มีอรรถคดีในศาล และผู้ที่ต้องมาติดต่อราชการศาล และบุคลาการในหน่วยงานสังกัดศาลยุติธรรมทุกคน โดยคาดหมายว่าสถานการณ์เช่นนี้จะค่อย ๆ คลี่คลายได้ในไม่ช้า ซึ่งระหว่างนี้เราทุกคนต้องไม่ละเลยต่อการมาตรการสำหรับการป้องกันที่หน่วยงานรัฐต่างๆ ได้ให้คำแนะนำไว้ด้วย”




--!>