ปทุมธานี มรภ.วไลยอลงกรณ์ จัดพิธีวางพวงมาลา พระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ 2564
ปทุมธานี มรภ.วไลยอลงกรณ์ จัดพิธีวางพวงมาลา พระราชปิตุจฉาเจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ 2564
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2564 ที่มหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดปทุมธานี ศ.ดร.วิรุณ ตั้งเจริญ นายกสภามหาวิทยาลัย ประธานในพิธีวางพวงมาลา พระอนุสาวรีย์สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร องค์ประทานกำเนิดมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยมีหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกร่วมพิธีวางพวงมาลาในครั้งนี้ เพื่อเป็นการสำนึกในพระกรุณาธิคุณของพระองค์ ในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ของทุกปี ซึ่งภายในงานได้จัดพิธีทำบุญเพื่ออุทิศถวายเป็นพระราชกุศลแด่ เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ และถวายภัตตาหารเพลแด่พระภิกษุสงฆ์ จำนวน 9 รูป พร้อมทั้งได้มีการจัดนิทรรศการเสมือนจริง (Virtual Reality) สมเด็จพระราชปิตุจฉา เจ้าฟ้าวไลยอลงกรณ์ กรมหลวงเพชรบุรีราชสิรินธร ทรงเป็นพระราชธิดา ลำดับที่ 43 ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับสมเด็จพระศรีสวรินทิรา บรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า ประสูติวันพุธที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2427 และพระองค์ทรงสิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2481 ท่ามกลางความเศร้าโศกเสียใจของพระบรมวงศานุวงศ์ ข้าราชบริพาร ตลอดจนผู้ใกล้ชิด พระกรุณาธิคุณของพระองค์นั้น ทรงมีพระเมตตาต่อการศึกษาของกุลสตรีไทย จัดตั้งโรงเรียนฝึกหัดครูเพชรบุรีวิทยาลงกรณ์ เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2475 ปัจจุบันคือ เลขที่ 153 ถนนเพชรบุรี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพมหานคร โดยย้ายนักเรียนฝึกหัดครูและนักเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.7-8) มาจากโรงเรียนเบญจมราชาลัย โรงเรียนใช้ชื่อย่อว่า พ เป็นสัญลักษณ์ และสีเขียว เป็นสีประจำโรงเรียนเนื่องจากเป็นสีประจำวันประสูติของพระองค์ ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จ.ปทุมธานี มีทั้งหมด 7 คณะ และ 1 วิทยาลัย เปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี ปริญญาโทและเอก ได้แก่ คณะครุศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ คณะวิทยาการจัดการ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คณะเทคโนโลยีการเกษตร คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม คณะสาธารณสุขศาสตร์ และวิทยาลัยนวัตกรรมการจัดการ รวมทั้งมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ จังหวัดสระแก้ว ซึ่งเป็นแหล่งให้ความรู้ สร้างบัณฑิต เพื่อพัฒนาชุมชน ท้องถิ่น และสังคม ผ่านรูปแบบการเรียนการสอนเชิงบูรณาการ (Productive Learning) และการส่งเสริมทางด้านบริการวิชาการและการวิจัย ตามยุทธศาสตร์ พันธกิจของมหาวิทยาลัยเพื่อให้มีความมั่นคง มั่นคั่งและยั่งยืนต่อไป.
สหรัฐ แก้วตา หน.ข่าวปทุมธานี รายงาน