สสส.ร่วมสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนปทุมธานี ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS
สสส.ร่วมสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนปทุมธานี ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยด้วยมาตรฐานแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ภายใต้แบรนด์ SDGsPGS มีมติจัดตั้ง “สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนปทุมธานี” และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นางสาวธนพร โพธิ์มั่น หรือ “ป้านา” เป็นประธานพร้อมเดินหน้าพัฒนา “ฟาร์มเห็ดป้านา” ให้เป็นตลาดเกษตรอินทรีย์ สร้าง Organic Farm Outlet ที่พร้อมเปิดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์จากสมาชิก และเปิดตลาดพืชผลเกษตรปลอดสาร ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคในจังหวัดปทุมธานี สามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีจากเกษตรกร
วันที่ 6-8 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ฟาร์มเห็ดป้านา เลขที่ 40 หมู่ 6 ตำบลคลองขวางบน อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ซึ่งขับเคลื่อนโครงการระบบอาหารปลอดภัยและโภชนาการเพื่อสุขภาพที่ดีของประชาชน จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างแหล่งอาหารปลอดภัยด้วยมาตรฐานแปลงเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS) ภายใต้แบรนด์ SDGsPGS โดย ดร.ณัจยา แก้วนุ้ย ผู้จัดการโครงการฯ ดร.วิทูรย์ อินท์จันท์ ผู้ช่วยฯ และ เกษตรกรในจังหวัดปทุมธานีเข้าร่วมจำนวน 25 คน วิทยากรในการอบรมทั้ง 3 วันคืออาจารย์เชน สนธิกาญจน์ วิโสจสงคราม ซึ่งเป็นประธานสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนสงขลา และอาจารย์รดา มีบุญ จากศูนย์เรียนรู้กสิกรรมไทยบ้านภูลิตา อำเภอรัตภูมิ จังหวัดสงขลา โดยการอบรมในวันแรกมีการจัดเวทีเรียนรู้กระบวนการ SDGsPGS และเกณฑ์และเครื่องมือในการตรวจแปลง วันที่สองเป็นการปฏิบัติการฝึกตรวจแปลงและพัฒนาระบบฐานข้อมูลในระบบเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture Network) และวันสุดท้ายมีการจัดกลไกในการขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS โดยให้พื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยผู้เข้าร่วมอบรมมีมติจัดตั้ง “สมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนปทุมธานี” และมีมติเป็นเอกฉันท์ให้นางสาวธนพร โพธิ์มั่น หรือ “ป้านา” เป็นประธาน
นางสาวธนพร โพธิ์มั่น หรือ ที่รู้จักกันดีในนาม “ป้านา” “ผลิตภัณฑ์เห็ดป้านา” ได้ขับเคลื่อนการเพาะเลี้ยงและแปรรูปเห็ดอินทรีย์ จนเป็นศูนย์เรียนรู้ในการทำเกษตรอินทรีย์ กล่าวว่า ตนเองดีใจมากที่ได้เข้าร่วมเครือข่าย SDGsPGS เพราะที่ผ่านมาทำเกษตรอินทรีย์แต่ยังไม่ได้รับรองมาตรฐาน สร้างความเชื่อมั่นและท้าทายว่าเกษตรอินทรีย์ในเขตจังหวัดปทุมธานีสามารถทำได้ และเมื่อได้มีการประสานงานกับทาง สสส. ในการจัดอบรมเกษตรกรขับเคลื่อนประเด็นอาหารปลอดภัย จึงได้เสนอให้เชิญวิทยากรคืออาจารย์จากสงขลา ซึ่งป้านาเคยไปเข้าร่วมเรียนรู้การทำเห็ด การทำเกษตรอินทรีย์ด้วย โดยอาจารย์ทั้งสองได้ขับเคลื่อนการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม SDGsPGS ในจังหวัดสงขลาอย่างเป็นรูปธรรม เกษตรกรที่เข้าร่วมอบรม ได้เข้าใจแนวทางและกลไกการขับเคลื่อนแล้วจากการอบรมทั้ง 3 วันแล้ว ก็เห็นพ้องร่วมกัน มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งและพร้อมที่จะร่วมกันขับเคลื่อน SDGsPGS ในจังหวัดปทุมธานี โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง และบูรณาการหน่วยงานต่างๆร่วมหนุนเสริม โดยเบื้องต้นได้ตั้งเป้าหมายในการตรวจแปลงเพื่อการประชุมรับรองครั้งแรกในเดือนมิถุนายน 2564 ประมาณ 20 แปลง และพร้อมเดินหน้าพัฒนา “ฟาร์มเห็ดป้านา” ให้เป็นตลาดเกษตรอินทรีย์ สร้าง Organic Farm Outlet ที่พร้อมเปิดจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์จากสมาชิก และเปิดตลาดพืชผลเกษตรปลอดสาร ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคในจังหวัดปทุมธานี สามารถเข้าถึงอาหารที่ปลอดภัยจากสารเคมีจากเกษตรกร และพี่น้องในเครือข่าย SDGsPGS จากจังหวัดอื่นๆด้วย และพัฒนาให้ “ฟาร์มเห็ดป้านา” เป็นศูนย์เรียนรู้ในการแปรรูปผลผลิตอินทรีย์ที่ได้มาตรฐาน
SDGsPGS (Sustainable Development Goals Participatory Guarantee System) เป็นเครือข่ายที่พัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม PGS ซึ่งเป็นแนวคิดโดย IFOAM มีการนำไปใช้ทั่วโลก ผสมผสานแนวทางการพัฒนาแปลงเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ มกษ. 9000โดยรัฐบาลไทย เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยองค์การสหประชาชาติ และยุทธศาสตร์ชาติว่าด้วยเกษตรกรรมยั่งยืน เกษตรอินทรีย์และสมุนไพรอินทรีย์ เป็นการพัฒนามาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม และพื้นที่เป็นตัวตั้งแบบครบห่วงโซ่ ทั้งต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ มีสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนระดับจังหวัดเป็นเจ้าภาพระดับจังหวัด บริหารกลไกคณะทำงานตรวจแปลง คณะทำงานพัฒนาฐานข้อมูล คณะกรรมการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วมระดับจังหวัด และสุดท้ายคือกลไกธุรกิจในรูป “วิสาหกิจเพื่อสังคม” ซึ่งมีเป้าหมายในการค้าที่ยุติธรรมและนำกำไรไม่น้อยกว่า 70% ไปลงทุนต่อและทำงานพัฒนา โดยปันผลไม่เกิน 30 % ปัจจุบันได้ขับเคลื่อนสมาพันธ์เกษตรกรรมยั่งยืนระดับจังหวัดไปแล้วมากกว่า 50 จังหวัดทั่วประเทศ