โคราชขับเคลื่อนเครือข่ายไหมไทยแบบบูรณาการเพื่อสร้างความเข้มแข็งและยั่งยืน

กรกฎาคม 7, 2017 13:08 โดย opwnews
0
1017

S__10961109

นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เปิดเผยว่า ยุทธศาสตร์กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ในปี 2560 ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวอารยธรรมขอม และผลิตภัณฑ์ไหม ประกอบกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจ และส่งเสริมการพัฒนาอุตสาหกรรมที่สอดคล้องกับศักยภาพพื้นฐานของประเทศ ซึ่งกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 ประกอบไปด้วย จังหวัดนครราชสีมา ชัยภูมิ บุรีรัมย์ และสุรินทร์ เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรม ผลิตภัณฑ์ไหม ท่องเที่ยวอารยธรรมขอม โลจิสติกส์ และการค้าชายแดน ตำแหน่งการพัฒนาที่ดีเด่นของกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง 1 คือ เป็นแหล่งผลิตภัณฑ์ไหมในระดับประเทศ ซึ่งมีเกษตรกร 36,343 ราย พื้นที่ปลูกหม่อน 20,130 ไร่ ผลผลิตรังไหม 238.25 ตัน/ปี ผลผลิตเส้นไหม 25 ตัน/ปี สามารถก่อให้เกิดรายได้ไม่น้อยกว่า 5,593 ล้านบาท/ปี และเพื่อให้เกิดการพัฒนาสินค้าและบริการด้านหม่อนไหม ให้มีคุณภาพได้มาตรฐานและสามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคอาเซียน จึงต้องเร่งในการกระตุ้นกลุ่มเกษตรกรผู้ผลิตและผู้ประกอบการด้านหม่อนไหมให้เกิดการพัฒนาตนเองของกลุ่มผู้ผลิตหม่อนไหม ตั้งแต่กลุ่มต้นทาง กลางทาง และปลายทาง มีการบูรณาการการทำงานทุกภาคส่วน เพื่อพัฒนาวัตถุดิบของกลุ่มต้นทาง โดยเฉพาะผู้ผลิตรังไหม เส้นไหม ไปถึงหัตถกรรมไหม หัตถอุตสาหกรรม และผ้าไหมให้ได้รับความรู้ในการผลิตรังไหม เส้นไหมตามมาตรฐาน มกษ. การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากหม่อนไหมเป็นเครื่องสำอางค์ รวมไปถึงการผลิตผ้าไหมให้ได้คุณภาพตามมาตรฐาน ตรานกยูงพระราชทาน มาตรฐาน มผช. และมาตรฐานตราอื่นๆ ให้เป็นที่ยอมรับในระดับสากล

นายอนันต์ มหัจฉริยพันธุ์ สหกรณ์จังหวัดนครราชสีมา กล่าวว่า สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครราชสีมาร่วมกับศูนย์หม่อนไหมฯ ใช้งบประมาณกลุ่มจังหวัดจัดประชุมชี้แจงแนวทางการจัดตั้งตลาดกลางสินค้าเส้นไหมแก่ผู้แทนเกษตรกร เพื่อให้ผู้ผลิตและผู้ประกอบการได้มีการเชื่อมโยงการผลิตและการตลาด รวมถึงการฝึกอบรมให้กับเกษตรกรและประชาชนทั่วไป ได้มีองค์ความรู้ เครื่องมือที่มีประสิทธิภาพ เทคนิควิธีการในการผลิตรังไหม เส้นไหม การแปรรูปผลิตภัณฑ์ไหมให้มีคุณภาพตามมาตรฐาน

นายอนันต์ กล่าวอีกว่า การจัดประชุมเพื่อขับเคลื่อนเครือข่ายไหมไทย ณ อบต.ทับสวาย อำเภอห้วยแถลง มีเกษตรกรเข้าร่วมประชุม จำนวน 200 คน คาดว่าเกษตรกรจะได้รับการพัฒนาความรู้ ทักษะ พร้อมทั้งมีนวัตกรรม ความรู้ และเทคโนโลยีในการพัฒนาวัตถุดิบ รังไหม เส้นไหม ให้มีคุณภาพ เกิดการเชื่อมโยงด้านการตลาด เกษตรกรสามารถผลิตเส้นไหมคุณภาพดีเข้าสู่กระบวนการผลิตผ้าไหมจากเดิม 5 ตัน/ปี เป็น 10 ตัน/ปี มีใบหม่อนสำหรับเลี้ยงไหมตลอดปี และมีรายได้เพิ่มจากการขายเส้นไหม จาก 3,500-4,500 บาท/รุ่น เป็น 4,500-7,500 บาท/รุ่น

S__10961116 S__10961115 S__10961113 S__10961112 S__10961111 S__10961110




--!>