ปทุมธานี 9 มทร. ระดมทัพมุ่งสู่มาตรฐานการศึกษานานาชาติให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล
ปทุมธานี 9 มทร. ระดมทัพมุ่งสู่มาตรฐานการศึกษานานาชาติให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล
เมื่อเวลา 09.00 น. วันที่ 12 กันยายน 2565 ที่โรงแรม โนโวเทล กรุงเทพ ฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต จ.ปทุมธานี ศาสตราจารย์ ดร.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานในพิธีเปิดผ่านระบบออนไลน์ การประชุมสัมมนาเครือข่ายราชมงคลฯ มุ่งสู่ความเป็นมาตรฐานการศึกษาระดับนานาชาติ โดยมี รองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ในฐานะประธานคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ. มทร.) กล่าวรายงานโครงการประชุมสัมมนาเครือข่าย มทร. ภายในการประชุมสัมมนามีการจัดบรรยายพิเศษจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาคภาษาไทยและอังกฤษ มีผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย อธิการบดี รองอธิการบดี ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์ต่างประเทศ ผู้อำนวยการสำนักประกันคุณภาพการศึกษา จากเครือข่าย มทร. 9 แห่ง สำหรับวัตถุประสงค์สำคัญของโครงการนี้ เพื่อให้เครือข่าย 9 มทร. สามารถวางแผนและเตรียมความพร้อมในการรับรองมาตรฐานคุณภาพการศึกษาในระดับสากล ซึ่งเป็นความมุ่งมั่นในการยกระดับการจัดการศึกษาอย่างต่อเนื่องของเครือข่าย 9 มทร. ตามนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ในการยกระดับสถาบันอุดมศึกษาของไทยให้มีคุณภาพและมาตรฐานในระดับสากล ผ่านระบบการประเมินคุณภาพ โดยสถาบันจัดอันดับชั้นนำของโลกเพื่อให้มีการพัฒนาคุณภาพที่สูงขึ้นและส่งผลให้ได้รับการจัดอันดับของมหาวิทยาลัยโลกที่ดีขึ้น
รองศาสตราจารย์ ดร.สมหมาย ผิวสอาด อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี (มทร.ธัญบุรี) ในฐานะประธานคณะกรรมการอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล (ทปอ. มทร.) กล่าวว่า เครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หรือ มทร. ทั้ง 9 แห่ง ประกอบด้วย มทร.ธัญบุรี มทร.กรุงเทพ มทร.ตะวันออก มทร.พระนคร มทร.รัตนโกสินทร์ มทร.ล้านนา มทร.ศรีวิชัย มทร.สุวรรณภูมิ และมทร.อีสาน มีเจตนารมณ์ร่วมกันในการขับเคลื่อนมาตรฐานการศึกษาสู่ระดับนานาชาติของเครือข่ายมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล ส่วนการประเมินมาตรฐานในระดับสากล (QS Stars Rating, QS ASIA RANKING และ TIME HIGHER EDUCATION IMPACT RANKING) ถือเป็นระบบประเมินประสิทธิผลการดำเนินงานของสถาบันอุดมศึกษาทั่วโลกให้การยอมรับ ซึ่งมีตัวชี้วัดในการประเมินคุณภาพในด้านต่าง ๆ ได้แก่ ด้านการวิจัย ด้านการเรียนการสอน ด้านการมีงานทำของบัณฑิต ด้านความเป็นนานาชาติ ด้านสิ่งอำนวยความสะดวก ด้านนวัตกรรม รวมถึงด้านความรับผิดชอบทางสังคม และคาดหวังจากการประชุมสัมมนาในครั้งนี้ มหาวิทยาลัยในเครือข่าย 9 มทร. มีความพร้อมในการเข้าสู่การรับรองมาตรฐานในระดับสากล เพื่อให้เป็นที่ยอมรับทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ สร้างความเชื่อมั่นและเชื่อถือ รวมถึงเป็นมาตรฐานในระดับสากล.
สหรัฐ แก้วตา หน.ข่าว ปทุมธานีรายงาน