สธ. ร่วมกับ กทม. และ สปสช.เขต 13 เตรียมให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเด็กหญิง ป.5 กว่า 3.3 หมื่นคน ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เริ่มเข็มแรก ส.ค. นี้
กระทรวงสาธารณสุข โดยกรมควบคุมโรค ร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพฯ ประชุมชี้แจงนโยบายการให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (เอชพีวี) และแนวทางป้องกันควบคุมโรค“มะเร็งปากมดลูก” ให้แก่ครูในเขตกรุงเทพมหานคร เพื่อสื่อสารถ่ายทอดให้กับนักเรียนหญิงชั้น ป.5 และผู้ปกครอง ที่มีกว่า 3.3 หมื่นคน ใน 875 โรงเรียน ให้เข้ารับบริการฉีดวัคซีนดังกล่าว
วันนี้ (18 ก.ค.60) ที่โรงแรมมิราเคิลฯ กรุงเทพฯ นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมนายแพทย์วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร และนางสุพิศ จันทะพิงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เขต 13 กรุงเทพฯ ร่วมเปิดประชุมเชิงปฏิบัติการ“การให้บริการวัคซีนเอชพีวี ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 เขตกรุงเทพมหานคร” เพื่อชี้แจงแนวทางและนโยบายการให้บริการวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก (เอชพีวี) ในงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคมะเร็งปากมดลูกในนักเรียนหญิงชั้น ป.5 โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุม ได้แก่ ผู้บริหาร คณะครู ครูพยาบาล โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร
นายแพทย์เจษฎา โชคดำรงสุข อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า โครงการนี้เป็นความร่วมมือระหว่างกรมควบคุมโรค โดยสถาบันป้องกันควบคุมโรคเขตเมือง และกรุงเทพมหานคร โดยสำนักอนามัย รวมทั้งสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่ 13 กรุงเทพฯ ร่วมดำเนินการในโครงการดังกล่าว เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายที่เป็นนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ประมาณ 33,962 คนในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ทุกสังกัด ทั้งสังกัดการบริหารท้องถิ่นแบบพิเศษกรุงเทพมหานคร สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ สังกัดโรงเรียนเอกชนและนานาชาติ รวม 875 แห่ง ได้เข้าถึงบริการรับวัคซีนเอชพีวี จำนวน 2 เข็ม โดยเข็มที่ 1 จะเริ่มประมาณเดือนสิงหาคม 2560 นี้
ทั้งนี้ ประเทศไทยมีนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ประมาณ 4 แสนคน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับบริการวัคซีนเอชพีวี เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายดังกล่าวทั่วประเทศจะเริ่มให้บริการวัคซีนประมาณเดือนสิงหาคมนี้เช่นกัน สำหรับโรคมะเร็งปากมดลูกนั้น พบมากเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทย ซึ่งในประเทศไทยพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ประมาณ 6,000 ราย และเสียชีวิตประมาณ 3,000 รายต่อปี และเมื่อเป็นมะเร็งปากมดลูกแล้วจะมีค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาค่อนข้างสูง การป้องกันตั้งแต่แรกเริ่มจึงเป็นสิ่งสำคัญ การฉีดวัคซีนเอชพีวีให้เด็กหญิงในช่วงอายุ 10–12 ปี จะมีประสิทธิภาพสูงสุดในการป้องกันมะเร็งปากมดลูก เนื่องจากเป็นการป้องกันตั้งแต่ยังไม่ติดเชื้อเอชพีวี คือก่อนการมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก
ที่สำคัญวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกหรือเอชพีวี จะช่วยลดการเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกอีกทางหนึ่ง นอกเหนือจากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกที่มีการตรวจอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน ซึ่งวัคซีนดังกล่าวผ่านการศึกษาความปลอดภัย คุ้มค่า คุ้มทุน มาแล้วอย่างรอบคอบ และดำเนินการบรรจุวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกให้อยู่ในแผนงานสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ ในโอกาสนี้ จึงขอเชิญชวนครูและผู้ปกครองทำความเข้าใจ ศึกษาข้อมูลเพื่อประกอบการตัดสินใจอนุญาตให้บุตรหลานของท่านที่เป็นเด็กหญิงชั้น ป.5 เข้ารับบริการวัคซีนเอชพีวี อันเป็นการลดผู้ป่วยโรคมะเร็งปากมดลูกรายใหม่และโรคนี้หมดไปจากประเทศไทยในที่สุด
ด้านนายแพทย์วงวัฒน์ ลิ่วลักษณ์ รองผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่าในส่วนของกรุงเทพมหานครนั้นให้ความสำคัญเรื่องการให้บริการฉีดวัคซีนเอชพีวี ซึ่งที่ผ่านมานักเรียนในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานครได้รับวัคซีนมาแล้ว 2 ปี ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า วัคซีนมีความปลอดภัยสูง อย่างไรก็ตาม ในปี 2560 นี้ตามที่ประเทศไทยมีนโยบายระดับชาติในเรื่องนี้ ถือได้ว่าเป็นก้าวสำคัญของประเทศที่เด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.5 ประมาณ 4 แสนคนทั่วประเทศจะได้รับวัคซีนอย่างทั่วถึง