คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต เปิดห้องปฏิบัติการทางชีวฟิสิกส์ฯ ตอบโจทย์การวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมวิศวกรรมชีวการแพทย์ 4.0
คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดห้องปฏิบัติการศูนย์ความเป็นเลิศทางชีวฟิสิกส์ และทัศนูปกรณ์ทางการแพทย์ ตอบโจทย์การวิจัยเพื่อสร้างนวัตกรรมวิศวกรรมชีวการแพทย์ 4.0 ที่สามารถผลิตเทคโนโลยีเองได้ พึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
ดร.สื่อจิตต์ เพ็ชร์ประสาน รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ และหัวหน้าห้องปฏิบัติการศูนย์ความเป็นเลิศทางชีวฟิสิกส์ และทัศนูปกรณ์ทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ทางคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์ทรงมีพระราชปณิธานให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่สามารถผลิตเทคโนโลยีเองได้ พึ่งพาตนเองได้ตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง ทางคณะฯ จึงได้จัดตั้งห้องปฏิบัติการศูนย์ความเป็นเลิศทางชีวฟิสิกส์ และทัศนูปกรณ์ทางการแพทย์ (Biophysics and Biomedical Optics : BioMO) ขึ้น ซึ่งเป็นห้องวิจัยที่ได้รับการรับรองจากสำนักพัฒนาบัณฑิตศึกษา และวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สบว.) ให้เป็นหนึ่งในห้องปฏิบัติการของศูนย์ความเป็นเลิศด้านฟิสิกส์ (ThEP)
“ทางศูนย์ฯ ได้มุ่งเน้นการพัฒนางานวิจัยและนวัตกรรมทางด้านทัศนอุปกรณ์ทางการแพทย์ ไบโอเซ็นเซอร์ และวัสดุทางการแพทย์โดยเน้นความร่วมมือกันในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและเอกชน ตั้งแต่ต้นน้ำ คือ ผู้ผลิตและวิจัยเทคโนโลยีพื้นฐาน กลางน้ำ คือ ผู้บูรณาการณ์นำเทคโนโลยีพื้นฐานต่างๆ มาต่อยอดสร้างนวัตกรรมและทำการทดสอบต่างๆ และปลายน้ำ คือ การนำเทคโนโลยี และ นวัตกรรมนำไปใช้จัดจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม และชุมชน เพื่อสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพและมีมาตรฐานในระดับสากล จนปัจจุบันเป็นที่ยอมรับกันในระดับประเทศ โดยได้รับการสนับสนุนรางวัลและทุนจากทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เช่น ทุนสนับสนุนจากมหาวิทยาลัยรังสิต มูลนิธิโทเรประเทศไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ให้วิจัยเพื่อสร้างผลงานนวัตกรรมต่างๆ เช่น กล้องจุลทรรศน์พกพาทางการแพทย์ ทุนเพื่อวิจัยสร้างแผ่นอิเล็กโทรดทางการแพทย์ ทุนเพื่อให้สร้างทัศนูปกรณ์ต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ทางศูนย์ฯ ได้เน้นการสร้างบ่มเพาะองค์ความรู้ด้านการวิจัยเพื่อให้นักศึกษาสามารถสร้างนวัตกรรม กระตุ้นบ่มเพาะให้นักศึกษาสามารถสร้างธุรกิจจากงานวิจัย เช่น การทำบริษัท spin-off และ startup ต่างๆ เป็นต้น เพื่อเป็นการรองรับต่อความเปลี่ยนแปลงของโลกและเตรียมนักศึกษาของเราให้เป็นนักนวัตกรรมที่มีความเป็นมืออาชีพและจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ” รองคณบดีฝ่ายวิจัย นวัตกรรม และวิเทศสัมพันธ์ คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ กล่าวเสริม