รายงานพิเศษ การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) มีผลต่อการบริโภคมวลรวมและการเติบโตทางเศรษฐกิจ
จากกรณีการเผยแพร่พระราชกฤษฎีกา โดยมีรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ใน 2 ประเด็น คือ คงอัตราเดิมที่ 7% (รวมภาษีท้องถิ่น) ไว้ 1 ปีนับจากวันประกาศพระราชกฤษฎีกา และมีการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่มให้เป็น 9% โดยมีผลบังคับใช่เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2561 หลายคนคงตั้งคำถามกันว่าประเด็นดังกล่าวจะส่งผลกระทบอย่างไรกับเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศไทย
ในแง่ของรูปแบบภาษี โดยปกติแล้วรัฐบาลจะมีรายรับจากเงินภาษี (Taxes) 2 รูปแบบ คือ ภาษีจากรายได้บริษัทและรายได้ส่วนบุคคล (Income Tax) และภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่จริงแล้วการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มนั้นมีมาตั้งแต่สมัยร้อยปีก่อน โดยเริ่มใช้ครั้งแรกที่ประเทศเยอรมันและต่อมาที่ประเทศฝรั่งเศส โดยเดิมทีเรียกภาษีนี้ว่า “Production tax” แล้วจึงมีการนิยามคำว่า VAT (Value Added Tax) ในเวลาต่อมา
การปรับเพิ่ม หรือลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นการกระตุ้นความสนใจให้กับประชาชนและในบางครั้งยังกลายเป็นตัวแปรสำคัญประการหนึ่งสำหรับใช้ในการหาคะแนนเสียงเลือกตั้งอีกด้วย หลายคนมีความเชื่อว่า การเพิ่มภาษีนั้นเป็นข่าวร้ายสำหรับประชาชน และจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจนั้นลดลง โดยปกติแล้วภายใต้ช่วงที่เศรษฐกิจถดถอย นักวิชาการหลายคนเห็นว่า การลดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มน่าจะเป็นการทำให้เกิดการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย และช่วยนำไปสู่การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นได้มากขึ้น
การปรับอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) โดยทั่วไปจะมีสาเหตุมาจากอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้น การลดลงของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) และเริ่มมีอัตราการว่างงาน ได้มีผลงานวิจัยในต่างประเทศพยายามจำลองสถานการณ์การปรับเปลี่ยน VAT พบว่า การเพิ่มVAT จะส่งผลให้มี GDP ส่วนเพิ่ม และเพิ่มรายได้เพียงเล็กน้อยให้กับรัฐบาล ที่น่าสนใจกว่าคือ การเพิ่มVATจะมีส่งผลในเชิงลบต่อครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ ถ้าการเพิ่มขึ้นของรายได้ของภาครัฐ มาจากครัวเรือนที่มีรายได้ต่ำ นอกจากนี้ เมื่อเร็วๆนี้ ยังมีงานวิจัยจาก Columbia Business School ศึกษาถึงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงอัตราVAT ต่อการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยทำการศึกษาทั้งหมด 14 ประเทศ ประกอบไปด้วย 53 กรณี โดยระบุถึงการบริโภคและการเติบโตเศรษฐกิจแสดงได้ 3 รูปแบบ รูปแบบแรกคือ การบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น(ลดลง) ก่อนที่จะเพิ่ม(ลดลง) VAT รูปแบบที่สอง การบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลง(เพิ่มขึ้น) อย่างรวดเร็วทันทีที่มีผลบังคับใช้ การปรับขึ้น(ลด) VAT ยกตัวอย่างเช่น พอมีการประกาศปรับขึ้น VAT และมีผลบังคับใช้ในปีหน้า ในช่วงปีนี้ประชาชนจะมีการจับจ่ายซื้อสินค้ากักตุน ที่มากขึ้นอย่างรวดเร็วกล่าวคือมีการบริโภคที่สูงและกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่พอถึงจุดที่มีผลบังคับใช้ ระดับการบริโภคก็จะลดลงอย่างฉับพลัน โดยรูปแบบที่ 3 อธิบายต่อว่า หลังจากที่การบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจลดลง(เพิ่มขึ้น)อย่างแรง มันก็จะค่อยๆปรับขึ้น(ลด)มาทีละน้อย ในบางครั้งการปรับ VAT ขึ้นจะมีผลดีต่อประเทศในช่วงที่เศรษฐกิจดีมีการเติบโต เพราะจะมีผลต่อการออมของประชาชน และการจัดจ้างแรงงาน ที่จริงแล้ว VAT สามารถเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระดับนานาชาติได้อีกด้วย เมื่อเปรียบเทียบระหว่างภาษีเงินได้นิติบุคคล (Corporate Taxes) และ VAT จะเห็นว่าการเพิ่มขึ้นของภาษีเงินได้ จะเป็นการเพิ่มต้นทุนเงินทุนและต้นทุนในการผลิต ดังนั้น จึงเป็นการยากต่อบริษัทในประเทศ ที่จะไปแข่งขันในระดับตลาดต่างชาติ ในทางกลับกัน VAT นั้นสามารถขอ refund ได้ เลยไม่มีผลกระทบกับความสามารถในการส่งออกของบริษัทในประเทศ อย่างไรก็ตาม นักวิชาการบางท่านยังคงยืนกรานว่า ผลกระทบต่อการบริโภคและการเติบโตทางเศรษฐกิจยังคงถูกจำกัด และประชาชนไม่ควรตื่นกลัวถึงผลกระทบในด้านลบหลังจากมีการเพิ่มVAT เพราะมันไม่ได้เป็นผลกระทบแบบถาวร
อย่างไรก็ตาม นโยบายเปลี่ยนแปลงในเรื่องอัตราภาษีนั้น ไม่ว่าจะปรับขึ้นหรือปรับลดลง ท้ายที่สุดรัฐบาลจะต้องคำนึงถึงหลักสำคัญ 2 ประการ คือ การเปลี่ยนอัตราภาษีนั้นต้องให้เกิดผลเชิงบวกต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศชาติ และ ลดการเหลื่อมล้ำทางรายได้ของประชาชนในประเทศ
ดร.กุลบุตร โกเมนกุล
รองคณบดีฝ่ายบริหารและวิเทศสัมพันธ์ วิทยาลัยนานาชาติ
อาจารย์ประจำสาขาวิชาการเงินและการลงทุน ม.รังสิต