คณบดีคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต เผย สธ. ระบุ “วิศวกรชีวการแพทย์” จำเป็นอย่างยิ่งต่อ รพ.ภาครัฐ ในยุคประเทศไทย 4.0
คณบดีคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เผยกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ผู้ใช้บัณฑิต และผู้ผลิตบัณฑิต มีมติเอกฉันท์ “วิศวกรชีวการแพทย์” จำเป็นอย่างยิ่งต่อโรงพยาบาลภาครัฐ ในยุคประเทศไทย 4.0 รวมทั้งตอบสนองต่อนโยบายปฏิรูประบบราชการของภาครัฐ
รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น คณบดีคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอุปนายกสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย และคณะกรรมการบริหารสมาคมอุปกรณ์การแพทย์ไทย เปิดเผยว่า นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นประธานในพิธีเปิดงาน สัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ตำแหน่งวิศวกรชีวการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0” ณ มหาวิทยาลัยรังสิตจัด ที่จัดโดยคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย สมาคมอุปกรณ์การแพทย์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมการแพทย์ไทย ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ จากทุกสถาบันของประเทศไทย ชมรมนิสิตนักศึกษาวิศวกรรมชีวการแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมศิษย์เก่า คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้กำหนดนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เจตสุรกานต์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน สำนักงานข้าราชการพลเรือน ผู้ใช้บัณฑิตประกอบด้วย ผู้แทนอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน จากทั่วประเทศ เข้าร่วมสัมมนา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้นประมาณ 400 คน
“สำหรับการสัมมนาครั้งนี้มีเนื้อหาโดยสรุปคือ เนื่องจากสืบเนื่องจากโลกในศตวรรษที่ 21 ประกอบกับภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยเฉพาะนโยบายการมุ่งให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ของโลก มุ่งเป็นTrading & Service Nation รวมทั้งการที่อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพถือว่าเป็น New S-Curve ที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ในส่วนของสังคมไทยที่ได้ก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว โรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น ความใส่ใจในการดูแลสุขภาพตนเองในเชิงการป้องกันของประชาชนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลในทุกระดับจำเป็นต้องปรับปรุงการให้บริการ ทั้งเชิงตั้งรับแบบดั้งเดิมและภารกิจในเชิงรุกคือการให้บริการดูแลสุขภาพด้วยตนเองที่บ้าน หรือชุมชน โดยการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย ซึ่งถือว่าเป็นการดูแลสุขภาพที่ต้นทุนต่ำ โดยที่ผู้ป่วยที่ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้ใกล้ชิดมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์รวมกับเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ส่งผลทำให้ประชาชนมีการปรับพฤติกรรมโดยการหันมาเอาใจใส่ดูแลสุขภาพมากขึ้น
ภารกิจดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูประบบราชการของภาครัฐที่เน้นในด้านการทำให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชน มีผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น และการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ภารกิจ ทำให้เปรียบเสมือนแรงผลักดันที่สำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลในทุกระดับ จำเป็นต้องมี “วิศวกรชีวการแพทย์” ที่จบการศึกษาโดยตรง เพื่อทำหน้าที่ในด้านดังกล่าว ที่ไม่สามารถใช้บุคลากรด้านอื่นๆ แบบเดิมได้อีกต่อไป เนื่องจากสามารถปฏิบัติงานได้ทั้งในส่วนของภาระงานแบบเดิมและภาระกิจแบบใหม่ที่ต้องตอบสนองความต้องการของโรงพยาบาลคือ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับอุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยการพัฒนาระบบ โทรเวชกรรม (Telemedicine) เพื่อใช้สำหรับการดูแลรักษาสุขภาพทางไกล ในงาน Homecare หรือ Home Monitoring นอกจากนั้นวิศวกรชีวการแพทย์ยังสามารถดูแลบริหารจัดการงานทางด้าน Medical Robotic งานวิศวกรรมฟื้นฟูและอวัยวะเทียม งานวัสดุทางการแพทย์ เป็นต้น ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในปัจจุบันบุคลากรทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ดังกล่าว มีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน สามารถผลิตบัณฑิตออกมารับใช้สังคมได้ปีละประมาณ 250 คน” คณบดีคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต กล่าวเพิ่มเติม