เภสัชฯ ม.รังสิต นำร่อง 3 โครงการวิจัยด้านกัญชาช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง

มกราคม 17, 2017 04:18 โดย opwnews
0
1300

เภสัชฯ ม.รังสิต นำร่อง 3 โครงการวิจัยด้านกัญชาช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็ง
16143964_719033934918819_1226815834_n
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เดินหน้านำร่องการวิจัยด้านกัญชา 3 โครงการ เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุดกับผู้ป่วยโรคมะเร็ง
รศ.ดร.ภญ.นริศา คำแก่น อาจารย์ประจำหมวดวิชาเภสัชเวทและตัวยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า ท่านอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ได้เล็งเห็นประโยชน์ของพืชกัญชา จึงมีดำริให้คณะเภสัชศาสตร์ ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาเพื่อนำสมุนไพรกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ เพื่อเป็นการนำร่องการวิจัยด้านกัญชา และเป็นประโยชน์ทางการแพทย์ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการวิจัยและพัฒนาสมุนไพรอย่างครบวงจร สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างสูงสุด ในการนี้ คณะผู้วิจัยจากคณะเภสัชศาสตร์ โดยมีอาจารย์เป็นผู้อำนวยการแผนงานวิจัย จึงได้จัดทำข้อเสนอโครงการวิจัยย่อย จำนวน 3 โครงการ ที่มีความเชื่อมโยงสอดคล้องกัน
“เหตุผลที่เลือกกัญชา เพราะกัญชาเป็นพืชที่มีสารที่เรียกว่า Cannabinoids มีสารยับยั้งมะเร็งในหลายชนิด แต่เป็นข้อบ่งใช้ในการใช้ร่วมกับเคมีบำบัด ซึ่งจะช่วยเป็นการรักษาแบบผสมผสานในการลดอาการข้างเคียงที่เกิดขึ้น ทั้งนี้ หวังผลทั้งสองอย่างคือ ลดอาการข้างเคียงของเคมีบำบัด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน และช่วยเพิ่มความอยากอาหาร เพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยมะเร็งได้ ในขณะเดียวกันก็มีผลต่อการเจริญเติบโตการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็งด้วย จึงเลือกตัวนี้มา ซึ่งในประเทศไทยจัดพืชกัญชาเป็นพืชเสพติดประเภท 5 มีสารสำคัญคือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอล (delta-9-tetrahydrocannabinol หรือ THC) และแคนนาบิไดออล (Cannabidiol หรือ CBD)
โครงการที่ 1 ส่วนนี้จะศึกษาเกี่ยวกับการสกัดสารกัญชาออกมา เริ่มต้นต้องเตรียมสารสกัดโดยใช้ตัวทำละลายในการสกัดเปลี่ยนแปลงเทคนิคของการสกัดให้เป็นเทคนิคสมัยใหม่ขึ้น ลดการสูญเสียและเสื่อมสภาพ และนำไปตรวจสารสำคัญนั้น โดยที่สารสกัดจะมีตัวสารสำคัญอยู่ปริมาณสูงจำนวนมาก จะมีตัวที่ออกฤทธิ์ยับยั้งเซลล์มะเร็งอยู่ที่เราสนใจจะมีอยู่สองตัวคือ THC กับ CBD ในส่วนนี้จะวิเคราะห์ในเชิงปริมาณว่า สารสกัดในแต่ละวิธีนั้นมีค่า THC กับ CBD เท่าไร อย่างไรก็ตาม งานวิจัยนี้จะสมบูรณ์มากขึ้นหากมีข้อมูลเพิ่มเติมทางด้านพิษวิทยา ทั้งความเป็นพิษเฉียบพลันและพิษกึ่งเรื้อรัง เพราะถ้าผู้ป่วยใช้ในระยะเวลานานจะมีความมั่นใจมากขึ้น เนื่องจากเราได้เตรียมข้อมูลไว้ให้พร้อมแล้ว” รศ.ดร.ภญ.นริศา กล่าวเสริม
ด้าน ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ ลีละวัฒน์ อาจารย์ประจำหมวดวิชาเภสัชเวทและตัวยา คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของผลงานวิจัยหัวข้อ “การออกฤทธิ์ของ 9- tetrahydrocannabinol ต่อการลุกลามของเซลล์มะเร็ง” เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เคยทำวิจัยกัญชาในหลอดทดลอง โดยนำกัญชาไปทดสอบฤทธิ์กับเซลล์มะเร็งพบว่า กัญชาสามารถลดการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง และลดการลุกลามของเซลล์มะเร็งได้ค่อนข้างดี จึงคิดว่าน่าจะทำในระยะถัดไปก็คือการทดสอบในสัตว์ทดลอง ซึ่งขณะนี้ได้รับการอนุมัติโครงการจากสถาบันวิจัยแล้ว
“สำหรับวิธีการทดลองคือการนำเซลล์มะเร็งทางเดินน้ำดีที่พัฒนามาจากเซลล์มะเร็งของคนฉีดเข้าไปในหนู ทำให้หนูจะเกิดเป็นก้อนมะเร็งเกิดขึ้น จากนั้นก็จะฉีดสารจากต้นกัญชาเข้าไปในหนูทุกวัน ประมาณ 10 วัน และดูผลว่าก้อนมะเร็งที่เกิดขึ้นมีลดขนาดลงหรือไม่ ถ้าขนาดลดลงเราก็จะศึกษาภายในเซลล์มะเร็งนั้นอีกทีว่ากลไกอะไรบ้างที่กัญชาทำให้เซลล์มะเร็งตาย นี่คือเป้าหมายที่คาดว่าน่าจะได้ เหตุผลที่เลือกศึกษาเซลล์มะเร็งทางเดินน้ำดีนั้น เนื่องจากมะเร็งทางเดินน้ำดีเป็นชนิดหนึ่งของมะเร็งตับ ซึ่งคนไทยจะเป็นเยอะมาก โดยเฉพาะในภาคอีสานรับประทานปลาร้าที่ไม่ได้ต้มซึ่งจะมีไข่พยาธิอยู่ ถ้าไข่พยาธิเข้าไปฝังตัวอยู่จะทำให้เกิดมะเร็งได้ และคนไข้ส่วนใหญ่มาหาหมอต่อเมื่อมีอาการในระยะลุกลามแล้ว เราจึงมองว่าค่อนข้างอันตราย ยาเคมีบำบัดที่ใช้ในการรักษามะเร็งในทางเดินน้ำดีก็ยังไม่มี จึงอยากจะทำตรงนี้ขึ้นมา ซึ่งผลงานวิจัยมะเร็งทางเดินน้ำดี ได้มีการตีพิมพ์ไปแล้วและเป็นผลงานแรกของการวิจัยในมะเร็งทางเดินน้ำดี
ทั้งนี้ เบื้องต้นจะทำการทดลองในสัตว์ทดลองก่อน ผลจากการทดลองจะได้กลไกการออกฤทธิ์และขนาดของยาที่ใช้ โดยขนาดยานี้จะนำไปสู่การทดลองในคนได้ ซึ่งเป็นอนาคตที่เราคาดหวังว่าจะไปให้ถึงและออกมาใช้ได้” ผศ.ดร.ภญ.สุรางค์ กล่าว
โครงการที่ 3 เป็นการพัฒนาตำรับสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากจากสารสกัดกัญชา โดย ภญ.วรวรรณ สายงาม อาจารย์ประจำศูนย์วิจัย คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า สืบเนื่องมาจากโครงการแรกที่มีการสกัดสารให้ได้สารสำคัญปริมาณสูงมาแล้ว จะนำมาคำนวณเพื่อให้ทราบขนาดยาที่ใช้ในการรักษา โดยเปรียบเทียบกับผลิตภัณฑ์รูปแบบสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปากที่สกัดจากพืชกัญชาที่มีจำหน่ายในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลิตภัณฑ์ชนิดนี้ไม่มีใช้ภายในประเทศไทย เนื่องจากกัญชา จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และไม่มีการอนุญาตให้นำมาใช้ในทางการแพทย์ เบื้องต้นหวังผลเกี่ยวกับอาการปวดจากโรคมะเร็ง ซึ่งมีส่วนช่วยในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อยาแผนปัจจุบัน
“เหตุผลที่เลือกเป็นสเปรย์ฉีดพ่นในช่องปาก เนื่องจากเมื่อเราฉีดพ่นสเปรย์เข้าไปสัมผัสกับเยื่อบุในช่องปาก ตัวยาสามารถดูดซึมได้ทันที ซึ่งแตกต่างจากยารับประทาน หากเราทานยาลงไปตัวยาหรือสารสำคัญจะถูกสารในร่างกายทำลายไปได้ ดังนั้น ข้อดีที่เด่นชัดของยารูปแบบนี้ คือตัวยาจะไม่ถูกเมตาบอไลท์ที่ตับ ทำให้ตัวยาไม่ถูกทำลาย และออกฤทธิ์ได้เร็วกว่า
สำหรับงานวิจัยชิ้นนี้เราคำนึงถึงประโยชน์ของผู้ป่วยมะเร็งเป็นหลัก เป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย สามารถลดอาการปวดจากภาวะโรค เพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย ซึ่งทุกวันนี้มีผู้ป่วยมะเร็งที่ทดลองใช้กัญชาเพื่อลดอาการปวดของตนเองอยู่แล้ว แต่ไม่ได้มีการควบคุมขนาดยาที่เหมาะสม การใช้ขนาดยาที่ไม่เหมาะสมหรือไม่สม่ำเสมออาจก่อให้เกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย ดังนั้น การที่เรามีผลิตภัณฑ์ที่สามารถควบคุมขนาดยาได้ ก็สามารถรับรองในระดับหนึ่งได้ว่าขนาดยานี้ปลอดภัยกับผู้ป่วย สามารถลดอาการปวดได้จริง อย่างไรก็ตาม ถ้าตำรับนี้ให้ผลดีก็จะพัฒนาตำรับรูปแบบอื่นๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ป่วยมากยิ่งขึ้น อาทิเช่น รูปแบบยาที่ปลดปล่อยแบบควบคุม พัฒนาตำรับยาออกฤทธิ์นาน เพื่อสะดวกในการบริหารยาแก่ผู้ป่วย และเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิตให้แก่ผู้ป่วยอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ ในอนาคตคาดว่าจะจดอนุสิทธิบัตรผลงานในโครงการนี้ด้วย” ภญ.วรวรรณ กล่าวเพิ่มเติม




--!>