กรมวิชาการเกษตรสร้างเครือข่ายเกษตรกรปลูกพืชใช้น้ำน้อย ฝ่าวิกฤติแล้งสร้างความมั่นคงในอนาคต

เมษายน 5, 2016 17:29 โดย opwnews
0
1602

ภัยแล้ง เป็นภัยพิบัติอย่างหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อการทำการเกษตรของเกษตรกรในวงกว้าง โดยเฉพาะในปีนี้แม้กระทั่งเกษตรกรที่อยู่ในเขตพื้นที่ชลประทานก็ยังไม่สามารถใช้น้ำเพื่อการเพาะปลูกได้อย่างปกติ ฉะนั้นการปลูกพืชใช้น้ำน้อยจึงเป็นทางเลือกที่จะช่วยฝ่าวิกฤติแล้งนี้ไปได้

นายศักดิ์ชัย ศรีบุญซื่อ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ มีความห่วงใยในสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น จึงได้จัดทำมาตรการหลายด้านในการช่วยเหลือบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรหนึ่งในนั้นคือการลดพื้นที่ปลูกข้าวโดยส่งเสริมให้ปลูกพืชใช้น้ำน้อยชนิดอื่นทดแทนเพื่อให้มีรายได้ในระหว่างที่งดทำนา โดยกระทรวงเกษตรฯ ได้ร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง วางแผนส่งเสริมการผลิตโดยใช้การตลาดนำ ควบคู่กับถ่ายทอดองค์ความรู้ จากงานวิจัยและเทคโนโลยีที่สัมฤทธิผลแล้วไปสู่เกษตรกรให้เกิดการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพ ปลอดภัยและเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นด้วย

กรมวิชาการเกษตร เป็นหน่วยงานในสังกัดกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีหน้าที่ในการศึกษาและพัฒนางานวิจัยให้สอดคล้องกับการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร โดยเฉพาะปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในช่วงประสบปัญหาภัยแล้ง ดังนั้นงานวิจัยพืชใช้น้ำน้อยก็เป็นสิ่งจำเป็น ซึ่งศูนย์วิจัยพืชไร่ชัยนาท กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินการศึกษาวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชที่ใช้น้ำน้อยหลากหลายชนิด แต่ที่มีความโดดเด่นมีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ถั่วเขียวและข้าวโพดฝักสด เนื่องจากเป็นพันธุ์พืชใช้น้ำน้อยที่มีศักยภาพในการปลูกเป็นพืชหลังนาที่สามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรกรได้เป็นอย่างดี อีกทั้งมีโอกาสในการทำตลาดสูงเพราะปัจจุบันการผลิตยังไม่เพียงพอกับความต้องการ สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ที่มีการเชื่อมโยงตลาด เน้นส่งเสริมการผลิตสินค้าที่มีตลาดรองรับ พร้อมกับควบคุมการผลิตสินค้าให้มีคุณภาพปลอดภัย โดยเฉพาะต้องได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (GAP) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ




--!>