ดีเอสไอ สถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษ ครบรอบปีที่ 16
เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษ ครบรอบปีที่ 16
วันพุธที่ 3 ตุลาคม 2561
กรมสอบสวนคดีพิเศษ เป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 ตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2545 โดยมีภารกิจเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมคดีพิเศษที่มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ สังคม ความมั่นคง และความปลอดภัย และเน้นดำเนินคดีเพื่อปกป้องและรักษารายได้ของรัฐ รวมทั้งป้องกัน ปราบปราม ขบวนการทุจริต และอาชญากรรมข้ามชาติ โดยมีพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เป็นเครื่องมือสำหรับการปฏิบัติงาน
ตลอดระยะเวลา 16 ปีที่ผ่านมา กรมสอบสวนคดีพิเศษได้มีการปรับปรุงภารกิจและอำนาจหน้าที่เพิ่มเติมเพื่อให้สอดคล้องกับภารกิจที่เพิ่มขึ้นและเหมาะสมกับสภาพของงานที่เปลี่ยนแปลงไป โดยปัจจุบัน
มีการแบ่งส่วนราชการตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม พ.ศ. 2560 และมีการปรับปรุงการปฏิบัติงานตามนโยบายรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรรม ใน 3 ประเด็นหลัก คือ 1.การมุ่งเน้นการปฏิบัติงานแบบสหวิชาชีพ 2.ทำคดีพิเศษให้มีความชัดเจนไม่ซ้ำซ้อนกับงานตำรวจ และ
3.อำนวยความยุติธรรมคดีอาญาอื่นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำตามนโยบายรัฐบาล ซึ่งได้นำนโยบายดังกล่าวมาเป็นกรอบในการทบทวนบทบาทหน้าที่ด้านงานคดีพิเศษ และปรับลดงานคดีพิเศษที่หมดความจำเป็นต้องใช้วิธีการสืบสวนและสอบสวนโดยใช้วิธีการพิเศษจากเดิมที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายจำนวน 37 ฉบับ กว่า 100 ฐานความผิด เหลือเพียง 23 กฎหมาย ประมาณ 50 ฐานความผิด ซึ่งคณะกรรมการคดีพิเศษได้เห็นชอบตามแนวทางดังกล่าวแล้วและอยู่ระหว่างออกประกาศ กคพ.กำหนดรายละเอียดของลักษณะของการกระทำความผิดที่เป็นคดีพิเศษตามมาตรา 21 วรรคหนึ่ง (1) แห่งพระราชบัญญัติการสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 เพื่อใช้บังคับต่อไป
ในมิติด้านการดำเนินคดีพิเศษนั้น ตั้งแต่มีการจัดตั้งกรมสอบสวนคดีพิเศษ เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2545 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลา 16 ปี กรมสอบสวนคดีพิเศษมีการสอบสวนดำเนินคดีพิเศษไปแล้ว
ถึง 2,531 คดี โดยดำเนินการสอบสวนเสร็จแล้ว 2,162 คดี อยู่ระหว่างการสอบสวน 369 คดี นอกจากนั้นยังมีเรื่องที่รับไว้สืบสวนก่อนรับเป็นคดีพิเศษ ถึง 2,778 เรื่อง ดำเนินการเสร็จแล้ว 2,662 เรื่อง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 116 เรื่อง โดยกรมสอบสวนคดีพิเศษได้แบ่งประเภทของอาชญากรรมที่รับไว้ดำเนินการเป็น 4 กลุ่มคดี ดังนี้
1. ด้านอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ ได้แก่ อาชญากรรมด้านการเงิน การธนาคาร การภาษีอากร การฟอกเงิน การกู้ยืมเงินที่เป็นการฉ้อโกงประชาชน และอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับระบบเศรษฐกิจ การคลัง กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 758 คดี
2. ด้านอาชญากรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและทรัพย์สินทางปัญญา ได้แก่ อาชญากรรม
ที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีสารสนเทศ และการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา กลุ่มนี้มีการ ดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 518 คดี
3. ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ได้แก่ อาชญากรรมที่มีผลกระทบต่อผู้บริโภค สิ่งแวดล้อม และเกี่ยวกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 354 คดี
4. ด้านอาชญากรรมระหว่างประเทศและอาชญากรรมพิเศษ ได้แก่ อาชญากรรมที่เป็นความผิดข้ามชาติ องค์กรอาชญากรรม การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว การเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ การค้ามนุษย์ อาชญากรรมที่กระทบต่อความมั่นคงประเทศ ความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน และอาชญากรรมพิเศษอื่น ๆ กลุ่มนี้มีการดำเนินคดีไปแล้วทั้งสิ้น 901 คดี
โดยคดีพิเศษที่ดำเนินการแล้วเสร็จนั้น เมื่อนำมาคำนวณมูลค่าความเสียหาย/ผลประโยชน์
ที่ปกป้อง รักษา เรียกคืนให้แก่รัฐ เอกชน และประชาชนแล้ว มีมูลค่าถึง 400,821 ล้านบาทเศษ ในขณะที่
แต่ละปี กรมสอบสวนคดีพิเศษใช้งบประมาณเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านบาทเศษ เท่านั้น
ในระยะเวลา 5 – 10 ปี ข้างหน้า กรมสอบสวนคดีพิเศษได้กำหนดทิศทางการทำงานเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลและกระทรวงยุติธรรม โดยมุ่งเน้นการป้องกัน ปราบปราม สืบสวน สอบสวนอาชญากรรมที่มีลักษณะพิเศษในหลาย ๆ ด้าน รวมทั้งให้สอดคล้องกับนโยบาย Thailand 4.0 ดังนี้
1. ด้านทรัพยากรธรรมชาติและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อม
2. ด้านการกู้ยืมเงินอันเป็นการรฉ้อโกงประชาชน และระบบสถาบันการเงิน การฟอกเงิน
3. ด้านการค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามชาติ
4. ด้านทรัพย์สินทางปัญญา โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับนวัตกรรมด้านเทคโนโลยี ที่เป็นผลผลิตจากนโยบาย Thailand 4.0
5. ด้านคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน Thailand 4.0
สำหรับการบริหารจัดการกรมสอบสวนคดีพิเศษในอนาคต จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ให้เท่าทันกับอาชญากรรมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รวมถึง ให้เกิดการพัฒนาในเรื่องความเชี่ยวชาญด้านการสืบสวนสอบสวน และมุ่งสร้างคนที่มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ ตรงไปตรงมา อย่างเป็นรูปธรรม สอดรับกับการสืบสวนสอบสวนคดีพิเศษได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทำงานเป็นทีมในรูปแบบ “สหวิชาชีพ” นอกจากนั้นแล้วจะมุ่งเน้นในเรื่องการประสานความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อสร้างความร่วมมือในระดับภูมิภาค ในกลุ่มประเทศอาเซียนและกลุ่มประเทศอื่น ๆ เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างเป็นรูปธรรม ในการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นคดีพิเศษร่วมกันต่อไป รวมถึงการสนับสนุนบุคลากร องค์ความรู้ ให้กับส่วนราชการอื่น ๆ เพื่อร่วมกันป้องกัน ปราบปราม อาชญากรรมอื่น ๆ เพื่ออำนวยความยุติธรรมและลดความเหลื่อมล้ำในสังคมต่อไป
สำหรับการมอบอำนาจหน้าที่ความรับผิดชอบแก่รองอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ เพื่อสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษนั้น ได้คำนึงถึงหลักการสหวิชาชีพตามนโยบายของกระทรวงยุติธรรม โดยรองอธิบดีทุกคนจะได้รับมอบอำนาจหน้าที่ในการสั่งและปฏิบัติราชการแทนอธิบดี ทั้งหน่วยงานที่ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวนคดีพิเศษ และหน่วยงานที่สนับสนุนการสืบสวนสอบสวน รวมถึงภารกิจอื่น ๆ เช่น งานผู้บริหารด้านการเงิน งานผู้บริหารด้านเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง งานผู้บริหารด้านจัดการองค์ความรู้ และงานผู้บริหารการเปลี่ยนแปลง ด้วย
อนึ่ง ในการปฏิบัติงานที่ประสบความสำเร็จ มิได้เป็นผลจากเจ้าหน้าที่ของกรมสอบสวนคดีพิเศษเพียงหน่วยงานเดียว แต่ยังมีพันธมิตรในการปฏิบัติงาน ประกอบด้วยหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ภาคประชาสัมคม ที่มีส่วนร่วมในการปฏิบัติงานของกรมสอบสวนคดีพิเศษจนเกิดผลดีต่อทางราชการและสังคม เนื่องในวันคล้ายวันสถาปนากรมสอบสวนคดีพิเศษครบรอบ 16 ปี ในวันนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษจึงขอขอบคุณทุกท่านและขอมอบความภาคภูมิใจนี้แด่พันธมิตรทุกท่าน และก้าวเดินไปด้วยกันเพื่อร่วมกันป้องกัน ปราบปราม อาชญากรรมพิเศษที่เป็นเหมือนศัตรูร้ายที่คอยบ่อนทำลายสังคม อันน่าอยู่ของประเทศไทยที่เป็นบ้านของคนไทยทุกคน
Cr./ ข่าวประชาสัมพันธ์กรมสอบสวนคดีพิเศษ