วิชาสายดนตรี ทำวิจัยไปทำไมกัน?
ณ..จุดนี้
งานวิจัยไม่ได้บอกว่าผมเก่ง..
แต่ถ้าวันหนึ่งลูกศิษย์ผมนำสิ่งที่ผมเขียนไปใช้
และเขาเก่งกว่าผม นี่แหละเรียกว่า “ความสำเร็จของผม”
รองศาสตราจารย์ ดร.วิบูลย์ ตระกูลฮุ้น รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวิจัย วิทยาลัยดนตรี มหาวิทยาลัยรังสิต จบปริญญาตรี สาขาศิลปศาสตรบัณฑิต (ดนตรีสากล) คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปริญญาโท สาขาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต (ดนตรีวิทยา) มหาวิทยาลัยมหิดล และสาขาศิลปกรรมศาสตรมหาบัณฑิต (การประพันธ์เพลง) คณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปริญญาเอก สาขา Doctor of Arts in Music Theory and Composition จาก School of Music, Ball State University, Indiana, USA
ปัจจุบันอาจารย์วิบูลย์ มีงานสอนทั้งในระดับปริญญาตรี เกี่ยวกับทฤษฎีดนตรี ดนตรีศตวรรษที่ยี่สิบ การวิเคราะห์ดนตรี และการประพันธ์เพลง และระดับปริญญาโท เกี่ยวกับระเบียบวิธีวิจัยในดนตรี ดนตรีศตวรรษที่ยี่สิบ ดนตรีวิเคราะห์ การสอนทฤษฎีดนตรี สัมมนาทฤษฎีดนตรี และการประพันธ์เพลง ล่าสุดอาจารย์ได้รับรางวัลสภาวิจัยแห่งชาติ: รางวัผลงานวิจัย ประจำปี 2560 ซึ่งผลงานวิจัยของอาจารย์ได้รับรงวัล ระดับดี ในการทำงานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ เรื่อง “อากาศธาตุ: บทประพันธ์เพลงเปียโนเพื่อการวิเคราะห์” ซึ่งต้องบอกว่าอาจารย์เป็นคนหนึ่งที่มี ผลงานวิชาการประเภทบทความวิจัย ผลงานวิชาการ ประเภทบทความวิชาการ ผลงานวิชาการ (ร่วม) ประเภทบทความวิจัย นำเสนอผลงานในที่ประชุมระดับชาติ และนานาชาติ งานวิจัยเชิงสร้างสรรค์ (ด้านการประพันธ์เพลง) รายงานการวิจัยฉบับสมบูรณ์ และทุนวิจัยหนังสือหรือตำรา และรางวัลระดับชาติอีกมากมาย
“ความสำเร็จของคนเป็นอาจารย์อย่างผม คือการได้เห็นสิ่งที่เราคิดค้น นำไปใช้ และศิษย์เข้าใจเอาสิ่งที่เราทำไปพัฒนาต่อยอดได้ นี่แหละถึงจะเรียกว่าความสำเร็จแท้จริง”
“ผมไม่เคยปฏิเสธที่จะสถาบันการศึกษาอื่นๆ มหาวิทยาลัยอื่นๆ ติดต่อเข้ามาเพื่อขอนำงานวิจัย ตำราเรียน หนังสือต่างๆที่ผมเขียนขึ้น ไปใช้ประกอบการเรียนการสอน หากสิ่งที่ผมเขียนและทำขึ้นมาเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาการเรียนการสอนศาสตร์ดนตรีในบ้านเราได้ ผมยินดีแบ่งปันโดยไม่คิดลิขสิทธิ์ใดๆ”
มีคำถามคาใจหลายคนถามว่าจะทำวิจัยอะไรกันไปตั้งมากมาย เพื่อตัวเองหรือเปล่า? สำหรับอาจารย์วิบูลย์เองคิดว่า แท้จริงแล้วการทำวิจัยในคอนเซ็ปต์ของอาจารย์มีประโยชน์กับตัวเองเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น เพราะการมีโอกาสได้ศึกษาค้นคว้างานวิจัยอะไรใหม่ๆ นั่นหมายความว่า เรากำลังพยายามพัฒนาการเรียนรู้ใหม่ให้เกิดขึ้น ทดลอง ศึกษาวิจัย และนำไปประยุกต์ใช้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับตัวเราในฐานะอาจารย์เท่านั้น แต่นี่คือสิ่งที่เราทำเพื่อลูกศิษย์ นี่คือสิ่งที่เราคิดค้นเพื่อเขา
อาจารย์วิบูลย์เป็นผู้หนึ่งที่ได้รับทุนวิจัยจากคณะกรรมการสภาวิจัยแห่งชาติเพื่อทำงานวิจัยอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะทางด้านสายดนตรี เนื่องจากในบ้านเรายังมีตำรางานวิจัยด้านนี้ไม่มากนัก ซึ่งอาจารย์เองก็พยายามที่จะศึกษาในประเด็นใหม่ๆ อย่างต่อเนื่องเพื่อหวังว่าไม่วันใดก็วันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะเป็นประโยชน์ต่อคนเรียนสายดนตรีในอนาคต่อไป
ผลงานสามารถติดตาม: หนังสือหรือตำรา
วิบูลย์ ตระกุลฮุ้น. มิติแห่งอากาศธาตุ บทประพันธ์เพลง 20 บท สำหรับเปียโน. กรุงเทพฯ: ธนาเพรส, 2559.
________. ดนตรีศตวรรษที่ 20 : แนวคิดพื้นฐานทฤษฎีเซต. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2559.
________. ดนตรีศตวรรษที่ 20. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2558