ผู้ตรวจการแผ่นดิน ร่วมมือ ป.ป.ช. เคาะ 3 แนวทาง ผนึกกำลังยกระดับแก้ไขปัญหาประชาชน มุ่งรักษาสิทธิเสรีภาพประชาชน ฟันเจ้าหน้าที่รัฐทุจริต
วันนี้ (14 ธ.ค.61) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุม 901 สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุมร่วมกับ พลตำรวจเอก วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยมีนายบูรณ์ ฐาปนดุลย์ ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายสมศักดิ์ สุวรรณสุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดิน นายณรงค์ รัฐอมฤต กรรมการ ป.ป.ช. นางสุวณา สุวรรณจูฑะ กรรมการ ป.ป.ช. นายสุรศักดิ์ คีรีวิเชียร กรรมการ ป.ป.ช. พลเอก บุณยวัจน์ เครือหงส์ กรรมการ ป.ป.ช. พลตำรวจเอก สถาพร หลาวทอง กรรมการ ป.ป.ช. และนางสาวสุภา ปิยะจิตติ กรรมการ ป.ป.ช. เข้าร่วมการประชุม เพื่อหาทางออกและแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนที่มีความซ้ำซ้อนและล่าช้า ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อประชาชน ที่ประชุมมีมติ 3 แนวทางทำงานร่วมกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อน มุ่งรักษาสิทธิเสรีภาพประชาชน ขจัดปัญหาเรื่องร้องเรียนที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม รวมถึงประเด็นทุจริต ประพฤติมิชอบ
พลเอก วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า การประชุมร่วมกันระหว่างสองหน่วยงานในวันนี้มุ่งขจัดปัญหา 2 เรื่องหลัก 1) ปัญหาเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการทุจริตประพฤติมิชอบของภาครัฐ ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของ ป.ป.ช. 2) การขจัดปัญหาความเดือดร้อนไม่เป็นธรรมแก่ประชาชน ที่อยู่ในขอบเขตอำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งมักจะปรากฏอยู่ในหลายคำร้องเรียนที่มีเรื่องทุจริตและเรื่องที่ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอยู่ในคำร้องเดียวกัน ดังนั้น การประชุมวันนี้ถือว่าเป็นหัวใจหลักสำคัญในการมุ่งขจัดความเดือดร้อนโดยกำหนดกรอบแนวปฏิบัติให้เกิดความชัดเจน และเกิดการบูรณาการการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ร้องเรียนอย่างเต็มที่ เพื่อมุ่งรักษาสิทธิ เสรีภาพ ของประชาชน หากเรื่องไหนเป็นเรื่องทุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งประเด็นดังกล่าวให้ ป.ป.ช เพื่อใช้อำนาจและกฎหมายของ ป.ป.ช ในการนำไปสู่กระบวนการไต่สวนและลงโทษเจ้าหน้าที่ที่กระทำความผิด ทุจริต และประพฤติมิชอบ ดำเนินการต่อไป ส่วนประเด็นใดที่ประชาชนได้รับผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ ความไม่เป็นธรรม และเป็นภาระเกินสมควรแก่เหตุ ผู้ตรวจการแผ่นดินจะดำเนินการแก้ไขให้เหมาะสมในสภาวการณ์ปัจจุบัน ซึ่งจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรตรวจสอบให้อำนวยประโยชน์แก่ประชาชนยิ่งขึ้น
สำหรับการประชุมร่วมกันดังกล่าว ที่ประชุมมีมติสรุป 3 แนวทางในการปฏิบัติงานร่วมกัน ดังนี้
1.เรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวกับการทุจริตและ มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหาย
1.1) ปัญหาความเดือดร้อนเสียหาย ให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการแก้ไขปัญหานั้น
1.2) ปัญหาการทุจริต : กรณีคำร้องเรียนระบุชัดเจนว่าเป็นการทุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตั้งแต่ชั้นของการรับคำร้องไว้พิจารณา ส่วนกรณีผู้ตรวจการแผ่นดินแสวงหาข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเป็นการทุจริต ผู้ตรวจการแผ่นดินจะส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ดำเนินการต่อไป
1.3) กรณีผู้ตรวจการแผ่นดินหยิบยกปัญหาความเดือดร้อนเสียหายขึ้นพิจารณา แล้วพบว่ามีปัญหาการทุจริตด้วย ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ในส่วนของการทุจริต และดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจในส่วนที่ขจัดความเดือดร้อนให้กับประชาชน
1.4) กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช.เห็นว่าเป็นเรื่องทุจริตแต่เป็นเรื่องที่มีประชาชนได้รับความเดือดร้อนเสียหายด้วย คณะกรรมการ ป.ป.ช. จะส่งเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินดำเนินการต่อไป
2. การเปิดเผยข้อมูลระหว่างกันในการปฏิบัติหน้าที่ และการเชื่อมโยงระบบข้อมูล ให้มีการเชื่อมโยงระบบข้อมูลร่วมกัน พร้อมตั้งคณะผู้ประสานงานด้านข้อมูลของทั้งสองหน่วยงาน เพื่อให้ความรวดเร็วในการติดต่อแลกเปลี่ยนข้อมูล เช่น ระบบอิเล็กทรอนิกส์
3.การส่งเสริมธรรมาภิบาลและต่อต้านการทุจริต : กำหนดแนวทางปฏิบัติการร่วมกันเกี่ยวกับการส่งเสริม
ธรรมาภิบาลและต่อต้านการทุจริตระหว่างองค์กรอิสระทุกองค์กร เช่น จัดโครงการรณรงค์ส่งเสริม
ธรรมาภิบาล และป้องกันการทุจริตประพฤติมิชอบในพื้นที่ต่างๆ การจัดเวทีเสวนาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับภาคประชาชนเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของภาครัฐในมิติต่างๆ
ทั้งนี้ การประชุมครั้งนี้เป็นผลสืบเนื่องจากแนวทางปฏิบัติหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 วรรคสาม บัญญัติว่า เพื่อประโยชน์
ในการดำเนินการตามวรรคสอง ให้ประธานผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจเชิญประธานองค์กรอิสระอื่นมาร่วมประชุมเพื่อปรึกษาหารือและกำหนดแนวทางร่วมกันได้ และให้องค์กรอิสระทุกองค์กรปฏิบัติตามแนวทางดังกล่าว และมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 ประกอบกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 221 บัญญัติให้ ในการปฏิบัติหน้าที่ ให้องค์กรอิสระร่วมมือและช่วยเหลือกันเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละองค์กร และถ้าองค์กรอิสระใดเห็นว่ามีผู้กระทำการอันไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่อยู่ในหน้าที่และอำนาจขององค์กรอิสระอื่น ให้แจ้งองค์กรอิสระนั้นทราบเพื่อดำเนินการตามหน้าที่และอำนาจต่อไป
พิสิษฐ์ เขื่อนเพ็ชรต์ / รายงาน