จิบน้ำชาฟังเรื่องเล่า ล้อมวงเต้น “จะคึ” วัฒนธรรมเก่าแก่ชาวมูเซอ

มีนาคม 13, 2017 05:27 โดย opwnews
0
1112

1489382883131จิบน้ำชาฟังเรื่องเล่า ล้อมวงเต้น “จะคึ” วัฒนธรรมเก่าแก่ชาวมูเซอ

พื้นที่ “ดอยมูเซอ” เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านชนเผ่าพื้นเมืองหลากหลายชาติพันธุ์ ซึ่งได้แก่ ชาวมูเซอดำ, ชาวมูเซอเหลือง, ชาวม้ง,ชาวลีซอ และชาวกระเหรี่ยง ที่อาศัยอยู่ที่ดอยมูเซอ จังหวัดตาก
สมาน ปิ่นสุวรรณ หรือที่รู้จักกันดีในนามน้าหมาน ที่ชาวมูเซอแทบทุกหลังคาเรือนรู้จักได้ให้เกียรติเป็นไกด์กิตติมศักดิ์ในการนำทางขึ้นดอยมูเซอในครั้งนี้
ชุมชนบ้านเรือนของชาวมูเซอที่นี่ปลูกสร้างอย่างเรียบง่ายไม่ผิดจากบ้านชาวบ้านทีอาศัยบนเขาทั่วๆไป บ้านมูเซอจะสร้างด้วยไม้ไผ่ เสาไม้ หลังคาแฝกหรือคา หน้าบ้านมีนอกชาน มีเตาไฟก่อไว้กลางบ้านหรือมุมบ้านสำหรับให้ความอบอุ่นในฤดูหนาว และหุงต้มอาหาร บ้านเรือนของชาวมูเซอส่วนมากปลูกยกพื้นใต้ถุนสูง ซึ่งจะใช้เป็นที่เก็บฟืน เสาบ้านเป็นไม้เนื้อแข็ง พื้นฟาก ฝาฟาก มุงด้วยหญ้าคา หรือใบก้อ ห้องครัวไฟกลางบ้าน ค่อนข้างมิดชิด พื้นกลางห้องตั้งกระบะไม้สี่เหลี่ยมใส่ดินอัดแน่นสำหรับวางท่อนฟืนก่อไฟต้มน้ำทำอาหาร ความอบอุ่นจึงแผ่ซ่านเอื้อเฟื้อแก่คนที่นั่งอยู่โดยรอบ เผ่ามูเซอ ก็มีการนั่งจิบน้ำชาข้างกองไฟเพื่อตั้งวงสนทนากัน ซึ่งทางเราก็ร่วมจิบน้ำชาและร่วมวงสนทนาด้วย
ชาวมูเซอ มีอิสระในการเลือกคู่ครอง มีสัมพันธ์ทางเพศในอายุยังน้อย ไม่ชอบแต่งงานกับหญิงสาวบ้านเดียวกัน การแต่งงาน การหย่าของมูเซอจะต้องมีการฆ่าหมู เพื่อสังเวยแก่ผีที่กลางลานใหญ่ของหมู่บ้าน

14893829270081489382925043
นานะ แม่บ้านชาวมูเซอผู้ใจดี ผู้เปิดบ้านต้อนรับพาเดินสำรวจและทักทายคนในหมู่บ้านบรรยากาศ ณ ที่แห่งนี้ ทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้เฒ่าผู้แก่ ต่างยิ้มและทักทายอย่างเป็นกันเองหลังจากสำรวจพื้นที่แล้วนะเต๊าะก็ไปดูวิธีทำข้าวปุ๊ ซึ่งถือเป็นอาหารมงคลที่ทุกบ้านต้องทำในเทศกาลปีใหม่ วิธีทำก็ทำโดยการนำข้าวที่สุกแล้วไปตำให้เหนียวเป็นก้อนแล้วนำมาปั้นเป็นก้อนกลมๆไว้ปิ้งกินกันในช่วงเทศกาลปีใหม่

14893829210871489382915046
ทุกคนจะพร้อมใจกันใส่เสื้อผ้าใหม่ซึ่งเป็นชุดประจำเผ่า และจะมีการผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปเต้นจะคึ ที่ลานจะคึ โดยจะมีผู้นำการเต้นทำการเล่นเครื่องดนตรีพื้นบ้านประจำเผ่ามีทั้งเครื่องเป่าและเครื่องสาย ส่วนคนอื่นก็จะเต้นและย่างก้าวเป็นจังหวะไปด้วยกันพร้อมตะโกนเชิญชวนให้คนมาร่วมงานมาร่วมเต้นกันด้วยคำว่า “โอจะคึโล” โดยการเต้นจะเต้นไปรอบๆ ไฟจะคึ ซึ่งเป็นไฟที่ถูกจุดไว้กลางลานและจะมีการเฝ้าไม่ให้ดับตลอดเวลาที่มีงาน เชื้อเพลงของ ไฟจะคึ ก็คือเทียนซึ่งจะจุดและมีเครื่องเซ่นต่างๆวางไว้โดยรอบ ชนเผ่ามูเซอถึงจะมีการเปิดรับกระแสวัตถุนิยมเข้ามาบ้างแต่ธรรมเนียมการปฏิบัติทุกอย่างยังเคร่งครัดคงเดิมมีกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวกับผีและศาสนาชัดเจนซึ่งทุกคนต้องปฏิบัติตาม“ชุมชนมูเซอที่นี่ยังรักษาประเพณีวัฒนธรรมของตนเอาไว้ได้มาก งานปีใหม่ของพวกเขาจึงคงความดั้งเดิมสูงมากเช่นกัน”

14893829063971489382895762
“ปู่จ๋าน” มีบทบาทเป็นทั้งผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวมูเซอ คือเป็นหมอผี ดูฤกษ์ยามและประกอบพิธีเซ่นไหว้หรือติดต่อดวงวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ เป็นทั้งหมอยา รู้วิธีใช้ยาสมุนไพรหรือเวทมนตร์รักษาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ทั้งมีบทบาทเป็นผู้นำชุมชน คอยไกล่เกลี่ยตัดสินคดีความและข้อพิพาทของคนในหมู่บ้าน
ปู่จ๋าน จึงเป็นบุคคลที่สำคัญยิ่งสำหรับชนเผ่ามูเซอ และตำแหน่งนี้สืบทอดทางสายเลือดสู่ลูกชาย ในแต่ละหย่อมบ้านมีปู่จ๋านได้เพียงผู้เดียวเท่านั้น

14893829019551489382893637
ปู่จ๋านนั่งอยู่หน้าห้องผีที่เปิดประตูไว้ ทุกคนเห็นแต่ด้านหลังของแก มือถือเทียนที่เปล่งแสง ทำพิธีบอกกล่าวผีเรือนให้รับรู้ถึงวาระขึ้นปีใหม่ คลอเสียงแคนน้ำเต้าที่มีผู้เป่าอยู่หลังห้อง เป็นเพลงเนิบช้าเสียงทอดยาววังเวง ท่วงทำนองวนซ้ำไปซ้ำมา สะกดจิตใจชวนให้เคลิ้มคล้อย ทุกคนในห้อง มีท่าทางสงบสำรวมคล้ายตกอยู่ในภวังค์ จากนั้นพวกเขาตั้งขบวนเชิญเทียนไปยังลานจะคึ นำไปปักไว้บนเนินดินกองย่อมที่ก่อขึ้นตรงศูนย์กลางลานดินวงกลม ทั้งวางตะกร้าบรรจุเทียนขี้ผึ้งที่ทำเตรียมไว้จำนวนมาก และถาดใส่เครื่องเซ่นไหว้ผีไว้บนเนินด้วย ผู้ชาย 3-4 คนพร้อมหมอแคนนั่งยองๆ รอบเนินดิน พนมมือไหว้บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์

14893828873101489382885243
ประเพณีของชาวมูเซอถือว่าลานจะคึเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ ใครจะมาทะเลาะวิวาทหรือกินเหล้าภายในลานไม่ได้ โดยเฉพาะเนินดินกลางลานยิ่งต้องให้ความเคารพ ห้ามคนหรือสัตว์ใดๆ ขึ้นไปเหยียบย่ำเป็นอันขาด เพราะเชื่อกันว่าเป็นที่สิงสถิตของผีลานจะคึ
ชาวมูเซอเริ่มทยอยมาที่ลานจะคึ ทุกคนล้วนแต่งกายด้วยชุดชนเผ่า การเต้นจะคึเริ่มต้นขึ้น ผู้ชายเรียงเป็นแถวด้านนอก แถวผู้หญิงอยู่ด้านใน หมอแคนเป่าแคนจังหวะสนุกสนานเดินนำ ทั้งสองแถวเต้นตาม วนเป็นวงรอบเนินดินกลางลาน ด้วยจังหวะย่างก้าวพร้อมเพรียงตามเสียงแคน

14893828784931489382875981
ระหว่างการ “เต้นจะคึ” นั้นเจ้าพระยาอินทร์ที่ชาวมูเซอนับถือจะอยู่ในสถานที่แห่งอันด้วย คอยแพร่บุญบารมีไปให้ชาวมูเซอที่เข้าร่วมพิธีในการต่อชีวิตให้ดำรงอยู่และประกอบอาชีพทำพืชสวนไร่นาอย่างได้ผลในปีนั้นๆ ในพิธีเต้นจะคึ จะมีขนมที่ทำจากข้าวเหนียวปั้นผสมงารวมทั้งใบยาสูบ-น้ำชา-เทียนไขเครื่องหมายเพื่อเป็นการส่องแสงสว่างในการดำรงชีวิต เพื่อถวายและขอพรจากเจ้าพระยาอินทร์ เป็นความเชื่อและความศรัทธาของชนชาวมูเซอมาตลอดหลายร้อยปีสืบไปสู่รุ่นลูกหลานตลอดไป
การเต้นจะคึดูเหมือนเป็นกิจกรรมเพื่อความสนุกสนาน แต่น้าหมานบอกให้ทราบแล้วว่า แท้จริงการเต้นจะคึ คือการทำบุญ ใครที่เต้นจะคึมากครั้งก็ยิ่งได้บุญมาก ชีวิตจะดียิ่งๆ ขึ้นไป ในรอบปีหนึ่งๆ ชาวมูเซอมาร่วมกันเต้นจะคึหลายครั้งหลายหน เพื่อประกอบพิธีกรรมต่างๆอย่างน้อยที่สุดน่าจะสะท้อนให้เห็นว่า การนับถือผียังคงเป็นศูนย์กลางความเชื่อที่เกาะกุมอยู่ในจิตวิญญาณของพวกเขาชาวมูเซอ
ในการสะพายกล้องส่องธรรมชาติครั้งนี้ผมต้องขอขอบคุณ น้าหมาน สมาน ปิ่นสุวรรณไกด์กิตติมศักดิ์ในการนำทางของเราในครั้งนี้และมิตรภาพของชาวเผ่ามูเซอทุกๆท่านที่มีให้กับคณะของเรา ทุกอย่างเป็นที่ประทับใจมากตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่น ชาวมูเซอทุกคนปฏิบัติกับเราเหมือนเป็นคนในบ้านเดียวกัน ที่นี่คือธรรมชาติที่ควรเปิดหน้าต่างหัวใจมาส่องเพื่อค้นหาและศึกษาธรรมชาติของคน คนที่ดำเนินทุกอย่างให้เป็นไปตามธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่อาศัยอยู่ ไม่ต้องห่วงเรื่องความหรูหราหรือทันสมัย สำหรับสะพายกล้องส่องธรรมชาติ
รายงานโดย…..พงศ์พัทธ์ วงศ์ยะลา / ปทุมธานี




--!>