ป.ป.ส. ภาค 1 สนับสนุนกิจกรรมปั้นดาวสู่ฟ้า เพื่อสร้างทีมข่าวเยาวชนในโรงเรียน รุ่นที่ 2 พื้นที่ 3 จังหวัดภาคกลาง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี
ป.ป.ส. ภาค 1 สนับสนุนกิจกรรมปั้นดาวสู่ฟ้า เพื่อสร้างทีมข่าวเยาวชนในโรงเรียน รุ่นที่ 2 พื้นที่ 3 จังหวัดภาคกลาง พระนครศรีอยุธยา สระบุรี ลพบุรี
สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 1 ได้อนุมัติให้การสนับสนุนโครงการจัดฝึกอบรมปั้นดาวสู่ฟ้า เพื่อสร้างทีมข่าวเยาวชนในโรงเรียน เป็นนักข่าวน้อยคอยอาสาพาห่างยา รุ่นที่ 2 โดยมี โรงเรียนฝึกอบรมพิธีกรและผู้ประกาศ ไอโปร หรือ Amata Academy เป็นผู้ดำเนินการจัดฝึกอบรมเยาวชนในระดับมัธยมศึกษาจาก 3 จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบ คือจังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี และลพบุรี รวม 10 โรงเรียน ทั้งหมด 70 คน เพื่อสร้างเครือข่ายเยาวชนรุ่นใหม่ มีภาะผู้นำ และมีแนวคิดเพื่อการสร้างสรรค์เรื่องดีงาม มีความรู้และทักษะพื้นฐานของการเป็นนักข่าว พิธีกรและผู้ประกาศข่าว นำความรู้ไปเสนอผ่านสื่อต่าง ๆ ฝึกทำ Clip VDO ข่าวเผยแพร่กิจกรรมต่าง ๆ ประชาสัมพันธ์ตามนโยบายของ ป.ป.ส. และยังเป็นการขยายฐานโรงเรียนที่เป็นศูนย์อำนวยการประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภาคเยาวชน (ศอ.ปส.ย.) สำหรับรูปแบบการจัดฝึกอบรมครั้งนี้ เป็นการเรียนภาคทฤษฎี 3 วัน วันที่ 16-18 สิงหาคม 2562 และฝึกปฏิบัติภาคสนามที่สตูดิโอ สถานีโทรทัศน์เด็กไทยทีวีเมื่อวันเสาร์ที่ 24 สิงหาคม 2562 สาระสำคัญของการจัดการฝึกอบรมครั้งนี้ คือ การสร้างทีมข่าวเยาวชนในโรงเรียน แบ่งกลุ่มฝึกทักษะสำหรับคนเบื้องหน้า คือนักเรียนที่จะหน้าที่เป็นพิธีกร ผู้ประกาศข่าว ฝึกทักษะคนเบื้องหลัง หรือนักเรียนที่จะเป็นทีมกล้อง และเขียนบท ซึ่งครั้งนี้ กำหนดให้ครูที่ปรึกษาประจำโรงเรียน ต้องฝึกเป็นโปรดิวเซอร์ หรือผู้กำกับกองถ่ายทำด้วย ผลสัมฤทธิ์ ที่ได้คือการถ่ายทำผลิต Clip VDO โดยโทรศัพท์มือถือและโปรแกรมที่มีอยู่ในระบบ เพื่อเผยแพร่สาระความรู้ กิจกรรม และเรื่องที่น่าสนใจ เพื่อการสร้างสรรค์ในกลุ่มเยาวชน
สำหรับ 10 โรงเรียนที่ได้ร่วมฝึกอบรมในโครงการนี้ได้แก่ จังหวัดพระนครศรีอยุธยารวม 4 โรงเรียนคือโรงเรียนนครหลวง “อุดมรัชต์วิทยา”, โรงเรียนอุทัย, โรงเรียนอุปลพันธ์โรจนประสิทธิ์, โรงเรียนบางปะอิน “ราชานุเราะห์ 1” โรงเรียนในจังหวัดสระบุรีรวม 3 โรงเรียนคือโรงเรียนสระบุรีวิทยาคม, โรงเรียนเสาไห้วิมล, โรงเรียนเทพศิรินทร์พุแค และ โรงเรียนในจังหวัดลพบุรีรวม 3 โรงเรียนคือ โรงเรียนท่าวุ้งวิทยาคาร, โรงเรียนพิบูลวิทยาลัย และโรงเรียนดงตาลวิทยา หัวข้อวิชาที่จัดฝึกอบรม คือ
1. รู้จักกับ สำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 1
2. รู้จักกับ ศูนย์อำนวยการประสานงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดภาคเยาวชน (ศอ.ปส.ย.)
3. ขอบเขตที่ควรรู้จากส่วนวิเคราะห์ข่าวและเฝ้าระวัง ป.ป.ส. ภาค 1
4. แนวนโยบายที่เป็นแนวทางให้ดำเนินการจากส่วนยุทธศาสตร์และอำนวยการ ป.ป.ส. ภาค 1
5. แนวทางการคิดกิจกรรมเพื่อบำเพ็ญประโยชน์แบบจิตอาสา
6. การคิด วิเคราะห์ และวางผังมโนภาพเพื่อชีวิตเป็นสุข SWOT / Mind Map
7. การเรียนรู้จัดทำและผลิตสื่อ Social Media / Facebook / Website
8. การนำเสนอโครงการเป็นสกู๊ปข่าวสั้น / วิธีการเขียนข่าว / วิธีการพูดหน้ากล้องโทรทัศน์
9. การเป็นพิธีกรรายงานข่าว และพิธีกรดำเนินรายการ TV Production
ในส่วนกิจกรรมที่น่าสนใจนอกจากจะเป็นการเรียนรู้ภาคทฤษฎีแล้ว ยังมีการฝึกถ่ายทำสกู๊ปจริงด้วยมือถือภาคสนามที่ ร้านกาแฟวังจันทร์ ในความดูแลของเรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา และ อนุสรณ์สถานแห่งความจงรักภักดี เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 อำเภอหันตรา รวมทั้งการได้ทดลองสร้างทีมผลิตด้วยอุปกรณ์ โมบายยูนิต ใช้กล้องโทรทัศน์จริง 3 มุม พพร้อมระบบสวิทซิ่ง ตัดต่อภาพ มาให้นักเรียนได้ฝึก ก่อนจะไปที่สตูดิโอสถานีโทรทัศน์เด็กไทยทีวี ที่อิมพีเรียลลาดพร้าว
นายทิพเมษฐ์ สังขวรรณะ ผู้อำนวยการ ส่วนยุทธศาสตร์และอำนวยการ สำนักงาน ป.ป.ส. ภาค 1 กล่าวว่าการจัดฝึกอบรมนักข่าวน้อยคอยอาสาพาห่างยารุ่นนี้ นับเป็นกิจกรรมนำร่องแผนใหม่ ที่จะทำให้นักเรียน ได้คิด ได้นำเสนอ และเป็นการทำงานผลิตสื่อที่ดีมาก สามารถสร้างเครือข่ายแกนนำทั้ง 3 จังหวัด 10 โรงเรียน 10 อำเภอระหว่างกัน มีการจัดกิจกรรมณรงค์ต่อต้านยาเสพติดในโรงเรียนมากขึ้น มีการสร้างสังคมออนไลน์ แบบ Social Media ติดต่อกัน ผ่านทาง Facebook และ Line อีกทั้งยังเป็นการขยายฐานจัดตั้งเป็นชมรม หรือศูนย์ประสานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาคเยาวชน ในสังกัด ป.ป.ส.ภาค 1 เพื่อให้เป็นการต่อยอดกิจกรรม ทาง สำนักงาน ป.ป.ส.ภาค 1 กำลังวางแผนการประกวดผลงานคลิปวีดีโอ ร่วมกับสถานีโทรทัศน์เด็กไทยทีวี ในโอกาสต่อไป
สหรัฐ แก้วตา หน.ข่าว ปทุมธานี