กรมชลฯ บูรณาการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สนับสนุนน้ำในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ 1,512 แปลง ทั่วประเทศ
กรมชลฯ บูรณาการร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล สนับสนุนน้ำในพื้นที่เกษตรแปลงใหญ่ 1,512 แปลง ทั่วประเทศ
กรมชลประทาน ขานรับนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บูรณาการงานร่วมกับกรมทรัพยากรน้ำ และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ตั้งเป้า แปลงใหญ่ปี 2559 จำนวน 600 แปลง ทุ่มงบประมาณกว่า 4,538 ล้านบาท ส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูก 1,539,866 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์ 96,697 ราย สามารถรองรับสินค้าเกษตรได้ 9 ชนิด พร้อมขับเคลื่อนแปลงใหญ่ต่อเนื่องในปี 2560 จำนวน 912 แปลง
นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ตามที่ พลเอก ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มีนโยบายขับเคลื่อนการดำเนินงานที่สำคัญของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือที่เรียกว่านโยบาย “เพื่อยกกระดาษ A4” ซึ่งเปรียบเทียบพื้นที่เกษตรกรรมในประเทศไทยที่มีจำกัด 149 ล้านไร่ เหมือนกระดาษ A4 1 แผ่น โดยให้ทุกหน่วยงานในสังกัดดำเนินการส่งเสริมภาคเกษตรกรรมในพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ ด้วยนโยบายสำคัญในด้านต่างๆ เช่น ศูนย์การเรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร (ศพก.) โครงการส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมโดยใช้ Agri-Map เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร พัฒนาเกษตรกรให้เป็น Smart Farmer โดยนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมใหม่ๆ มาใช้ในการทำการเกษตร รวมถึงการสร้างองค์ความรู้ขบวนการทางเกษตรกรรมแบบครบวงจร ซึ่งจะนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นที่ยอมรับของสังคม มีความภาคภูมิใจในการเป็นเกษตรกร และมีรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีพ โดยมีรายได้เพิ่มขึ้น 20% ไม่มีหนี้สิน และต้นทุนการผลิตลดลง 20%
โครงการส่งเสริมเกษตรแปลงใหญ่ เป็นระบบการส่งเสริมการเกษตรที่ยึดพื้นที่เป็นหลัก โดยจะเลือกพื้นที่ที่มีขนาดเหมาะสม เป็นพื้นที่ที่ไม่ผิดกฎหมาย รวมแปลงเล็กให้เป็นแปลงใหญ่ มีความเหมาะสมทางด้านดิน น้ำ และภูมิอากาศ และยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในการดำเนินงาน ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการดำเนินงานในลักษณะบูรณาการระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์กับหน่วยงานภายนอกกระทรวงเกษตรฯ เช่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ที่จะให้การสนับสนุนและอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ เพื่อก่อให้เกิดกิจกรรมการลดต้นทุนการผลิต เพิ่มโอกาสในการแข่งขันให้กับสินค้าเกษตร และสามารถวัดผลสัมฤทธิ์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยมีเกษตรกรเป็นศูนย์กลางในการดำเนินงาน ผลักดันให้เกษตรกรรวมกลุ่มในการผลิต เพื่อร่วมกันจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพดี ราคาถูก และการใช้เทคโนโลยีการเกษตรที่เหมาะสม เพื่อลดต้นทุนในการผลิตสินค้าเกษตร
ทั้งนี้ การดำเนินโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ในปี 2559 มีพื้นที่การเพาะปลูกในโครงการ จำนวน 600 แปลง แบ่งออกเป็นแปลงที่อยู่ในเขตชลประทานมีระบบส่งน้ำสมบูรณ์แล้ว จำนวน 95 แปลง อยู่ในแหล่งน้ำธรรมชาติ/โครงการที่ถ่ายโอนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นแล้ว จำนวน 267 แปลง และพื้นที่ที่ต้องดำเนินการจัดทำระบบส่งน้ำ จำนวน 238 แปลง ซึ่งใช้งบประมาณ 4,538.1515 ล้านบาท โดยกรมชลประทาน ดำเนินการเอง 220 แปลง ใช้งบประมาณ 4,198.6582 ล้านบาท นอกจากนั้นยังได้บูรณาการประสานความร่วมมือกับกรมทรัพยากรน้ำ ดำเนินการ 10 แปลง ใช้งบประมาณ 138.7653 ล้านบาท และกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ดำเนินการ 8 แปลง ใช้งบประมาณ 200.7280 ล้านบาท สามารถรองรับสินค้าเกษตรได้ 9 ชนิด คือ ข้าว พืชไร่ ไม้ยืนต้น ผัก/สมุนไพร ไม้ผล หม่อนไหม กล้วยไม้ ปศุสัตว์ และ ประมง
ในส่วนของการดำเนินงานสนับสนุนการส่งน้ำโครงการเกษตรแปลงใหญ่ของกรมชลประทาน จำนวน 220 แปลงนั้น เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะสามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้จำนวน 685,610 ไร่ เกษตรกรได้รับประโยชน์จากการดำเนินการ จำนวน 39,886 ราย ซึ่งปัจจุบันกรมชลประทานสามารถดำเนินการจัดทำระบบส่งน้ำแล้วเสร็จ จำนวน 56 แปลง (คิดเป็นร้อยละ 25.45) สามารถส่งน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกได้จำนวน 117,600 ไร่ มีเกษตรกรได้รับประโยชน์จากการดำเนินการ จำนวน 9,164 ราย และพื้นที่ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการดำเนินงาน จำนวน 64 แปลง (คิดเป็นร้อยละ 74.55)
สำหรับโครงการเกษตรแปลงใหญ่ ในปี 2560 กรมชลประทานจะดำเนินการจัดหาแหล่งน้ำสนับสนุนโครงการอย่างต่อเนื่อง จำนวน 912 แปลง ปัจจุบันสามารถรวบรวมข้อมูลพื้นที่การเกษตรแล้วเสร็จ จำนวน 509 แปลง และอยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูลโดยกรมส่งเสริมการเกษตร จำนวน 403 แปลง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนพฤษภาคม 2560 นี้