ปทุมธานี อดีตสารวัตรกำนันตำบลบางโพธิ์เหนือ เพาะเลี้ยง ‘หอยขม’ นำมาแปรรูปส่งขายยังร้านอาหาร สร้างรายได้หลักแสน ณ บ้านเลขที่ 39/1ม.5 ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี
ปทุมธานี อดีตสารวัตรกำนันตำบลบางโพธิ์เหนือ เพาะเลี้ยง ‘หอยขม’ นำมาแปรรูปส่งขายยังร้านอาหาร สร้างรายได้หลักแสน ณ บ้านเลขที่ 39/1ม.5 ตำบลระแหง อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ผู้สื่อข่าวรายงานว่า คำว่าหอยขมหรือภาษาในบางท้องถิ่นเรีอกว่า หอยจุ๊บ หรือหอยดูด เป็นที่รู้จักกันดีและมีขายในตลาดทั่วไป เป็นหอยฝาเดียวที่พบเฉพาะในแหล่งน้ำจืดเท่านั้น นิยมนำมาทำอาหาร เช่น แกงคั่วหอยขม แกงอ่อมหอยขม และอื่น ๆ อีกมากมาย โดยส่วนมากจะพบจากแหล่งธรรมชาติ โดยชาวบ้านในท้องที่เก็บมาขาย หรือพบบริเวณบ่อเลี้ยงปลา ซึ่งเป็นผลพลอยได้สำหรับเจ้าของบ่อเลี้ยงปลา แต่ในปัจจุบันมีการทำฟาร์มเพื่อการเพาะเลี้ยงหอยขมในกระชังโดยเฉพาะ หอยขมเป็นสัตว์ที่มีความอดทนต่อสภาพแวดล้อม เลี้ยงง่าย เจริญเติบโตเร็ว และขยายพันธุ์เร็ว ปัจจุบันนั้นจะเริ่มหายากมากขึ้นเพราะการเจริญเติบโตของเมืองหลวงที่คูคลองหนองบึงถูกเปลี่ยนเป็นหมู่บ้าน โรงงานอุตสาหกรรม ทำให้แหล่งน้ำตามธรรมชาติเริ่มหมดไปรวมทั้งสภาพแวดล้อมของชุมชนเมืองที่ทำให้ระบบนิเวศเปลี่ยนไปประชากรของหอยขมก็เริ่มลดน้อยลง นายชัยยะ อินทร์สุข หรือยะ อดีตสารวัตรกำนันตำบลบางโพธิ์เหนือ อายุ 47 ปี เปิดเผยว่าตนเองมีที่ซึ่งก่อนหน้าทำเป็นบ่อเลี้ยงปลาอยู่ 17 ไร่ ในพื้นที่ ต.ระแหง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ห่างออกจากบ้านไปประมาณ 2 กม. เริ่มแรกเดิมทีทำการเลี้ยงปลาเพื่อจำหน่ายแต่ผลรายได้ที่ตอบแทนกลับมาไม่ดีเท่าที่ควร แต่เหมือนโชคชะตาเข้าข้างหอยขมภายในบ่อที่มีอยู่ตามธรรมชาติกับเจริญเติบโต และเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นอย่างรวดเร็ว และคิดว่าจะต้องทำให้เป็นสัตว์เศรษฐกิจประกอบกับปัจจุบันยังมีคนทำน้อย จึงเพาะเลี้ยงและเริ่มเก็บหอยขมออกจำหน่ายมาได้ประมาณ 2 ปีกว่า ซึ่งถือว่ามีเสียงตอบรับจากผู้บริโภคได้เป็นอย่างดีในระดับหนึ่ง มีลูกค้าประจำซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านอาหารที่ต้องการหอยขมแบบแกะเปลือกไปเพื่อประกอบอาหารเมนูต่างๆ ให้กับลูกค้าโดยแต่ละสัปดาห์จะส่งอยู่ที่ 400 กิโลกรัม ไม่รวมที่นำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์แบบอื่น และแกงขายอีกหลายร้อยกิโลกรัม
นายชัยยะ อินทร์สุข หรือยะ เปิดเผยต่อไปอีกว่า สำหรับการเลี้ยงของตนเองนั้นความลึกของบ่อจะอยู่ที่ 2 เมตร ภายในบ่อจะใส่ทางมะพร้าว และยางเก่าของล้อ จักรยานยนต์เพื่อใช้เป็นพื้นที่สำหรับให้หอยขมเกาะ โดยบางส่วนก็จะผูกเชือกแขวนเอาไว้กับราวไม้ไผ่ ที่ทำไว้เพื่อให้ง่ายต่อการเก็บ หลังจากที่เราปล่อยพันธุ์หอยขมไปแล้วประมาณ 5-7 เดือนก็จะเริ่มคัดเลือกหอยขมขายได้ ส่วนอาหารของหอยขมก็จะเป็นรำอ่อนที่จะให้สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง โดยจะให้ลูกจ้างออกเก็บหอยขมตั้งแต่ช่วงเช้ามืด เพราะหากสายหอยจะลงไปอยู่น้ำลึก โดยจ้างเก็บในราคากิโลกรัมละ 5 บาท ก่อนที่จะนำไปคัดขนาดล้างทำความสะอาด และเข้าสู่ขั้นตอนการลวก แกะเปลือก ชั่งน้ำหนักและบรรจุภัณฑ์แบบสูญญากาศ ก่อนจะนำเข้าตู้แช่เพื่อรอการจัดส่งให้กับลูกค้า โดยที่ราคาหอยแกะแล้วนั้นราคาจะอยู่ที่ 100-120 บาท/กก. และหากเป็นหอยขมที่ยังไม่แกะเปลือกจะอยู่ที่กก.ละ 28-30 บาท ปัจจุบันนอกจากตนเองจะขายหอยขมแปรรูปส่งตามร้านอาหารแล้วนั้น ยังมีคนไทยที่ทำงานต่างประเทศรับหอยขมอบแห้งของตนเอง ไปเปิดตลาดใหม่เพื่อสร้างรายได้และประชาชนที่สนใจจะสั่งซื้อสามารถติดต่อได้ที่เฟซบุ๊กชื่อ หอยขมนัมเบอร์วันฯ หรือที่เบอร์โทรศัพท์ 081-9041829
สหรัฐ แก้วตา หน.ข่าว ปทุมธานี รายงาน