ปทุมธานี วว./EGCO หารือความร่วมมือบูรณาการผลักดัน วทน. สร้างสังคมนวัตกรรมยั่งยืนในอนาคต

มิถุนายน 20, 2020 04:40 โดย opwnews
0
280

1124836 1124837 1124840 1124841 1124842 1124843

ปทุมธานี วว./EGCO หารือความร่วมมือบูรณาการผลักดัน วทน. สร้างสังคมนวัตกรรมยั่งยืนในอนาคต
ดร.อาภากร สุปัญญา รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) พร้อมผู้บริหารและนักวิจัย วว. ร่วมต้อนรับ นายธงชัย โชติขจรเกียรติ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่บริหารองค์กร บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO และคณะ ในการหารือความร่วมมือการบูรณาการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม สู่ภาคอุตสาหกรรมและวิสาหกิจชุมชน เพื่อผลักดันให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ ทั้งเชิงเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อมต่อไปในอนาคต และสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป ในวันที่ 19 มิถุนายน 2563 ณ วว. เทคโนธานี คลองห้า จังหวัดปทุมธานี  โอกาสนี้ วว. ได้แนะนำโครงการความร่วมมือด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชน เพื่อส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่ม ภายใต้การดำเนินงานของหน่วยงาน วว. ได้แก่ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ เรื่อง “การพัฒนาป่าชุมชนให้เป็นแหล่งผลิต Organic products แบบธรรมชาติ สำหรับผลิตเห็ดพื้นบ้านและผักพื้นบ้านเพื่อสร้างฐานอาหารและเศรษฐกิจในชุมชนอย่างยั่งยืน” ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมอาหารสุขภาพ เรื่อง “ผลิตภัณฑ์แปรรูปอาหาร” ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมผลิตภัณฑ์สมุนไพร เรื่อง “ผลิตภัณฑ์อาหารเสริมและเครื่องสำอาง” ศูนย์เชี่ยวชาญพลังงานสะอาดและสิ่งแวดล้อม เรื่อง “การจัดการขยะชุมชนและสร้างมูลค่าเพิ่มด้วย วทน.” ศูนย์ความหลากหลายทางชีวภาพ เรื่อง “การใช้ประโยชน์จุลินทรีย์” พร้อมนี้ EGCO ได้เข้าเยี่ยมชมโครงสร้างพื้นฐานในรูปแบบ Shared service ของ วว. ได้แก่ ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (ICPIM) และโรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซลต่อเนื่องคุณภาพสูง  รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์และจัดการนวัตกรรม กล่าวว่า ปัจจุบันการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนนโยบายต่างๆ นั้น ถือได้ว่าเป็นการส่งเสริมระบบเศรษฐกิจสร้างความตระหนักถึงความรับชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม (CSR) เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนรอบโรงไฟฟ้า การจัดทำโครงการป่าชุมชน การพัฒนาพลังงานทดแทนในรูปแบบต่างๆ ที่ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า ส่งเสริมให้คนในชุมชนมีทักษะอาชีพเพื่อสร้างรายได้อย่างยั่งยืน การร่วมหารือในครั้งนี้ วว. และบริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) ในครั้งนี้ เชื่อมั่นว่าจะก่อให้เกิดแนวทางความร่วมมือต่อไปในอนาคตและสามารถสร้างประโยชน์สูงสุดในการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป อนึ่ง ศูนย์นวัตกรรมผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์เพื่ออุตสาหกรรม (Innovative Center for Production of Industrially used microorganisms : ICPIM) ตั้งอยู่ที่ วว. เทคโนธานี ตำบลคลองห้า อำเภอคลองหลวง จังหวัดปทุมธานี ดำเนินงานวิจัยพัฒนาเพื่อนำเชื้อจุลินทรีย์มาใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่ครบวงจร ประกอบด้วย ห้องปฏิบัติการวิเคราะห์ ทดสอบจุลินทรีย์โพรไบโอติกมาตรฐาน ISO/IEC 17025, คลังเก็บรักษาสายพันธุ์โพรไบโอติก (Probiotic Bank) ที่เป็นแหล่งรวบรวมและเก็บรักษาจุลินทรีย์โพรไบโอติกประจำถิ่นที่มีศักยภาพ, ห้องปฏิบัติการเฉพาะทางภายใต้มาตรฐานความปลอดภัยทางชีวภาพระดับ 2 (Biosafety Level 2) สำหรับงานวิจัยพัฒนาเพื่อคัดเลือกจุลินทรีย์โพรไบโอติกที่มีศักยภาพกับอุตสาหกรรมอาหารสุขภาพ และอาหารนม และระบบกระบวนการผลิตเชื้อจุลินทรีย์ตามมาตรฐานการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice : GMP) เพื่อการผลิตจุลินทรีย์โพรไบโอติกสำหรับนำไปใช้ในระดับอุตสาหกรรม โรงงานต้นแบบผลิตไบโอดีเซลต่อเนื่องคุณภาพสูง ตั้งอยู่ ณ บริเวณ วว.เทคโนธานี จ.ปทุมธานี มีกำลังการผลิต 1 ตันต่อวัน สามารถควบคุมการผลิตแบบอัตโนมัติและต่อเนื่อง ต้นแบบดังกล่าวเป็นการจำลองสายกระบวนการผลิตจริงของอุตสาหกรรมผลิตไบโอดีเซลแบบครบวงจร มีส่วนประกอบของเครื่องที่ใช้เพิ่มคุณภาพน้ำมันด้วยกระบวนการไฮโดรจีเนชัน ทำให้น้ำมันไบโอดีเซลที่ผลิตได้มีคุณภาพสูงในระดับสากลตามมาตรฐาน WWFC สามารถใช้ผสมกับดีเซลใช้ในยานยนต์ได้ นอกจากนี้ยังมีระบบการนำเมทานอลและน้ำกลับมาใช้ใหม่ โรงงานยังได้ออกแบบให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สำหรับวัตถุดิบที่ใช้ในกระบวนการผลิตของโรงงานต้นแบบฯ ดังกล่าว จะเน้นการใช้น้ำมันจากพืชที่ไม่ใช่อาหาร เช่น น้ำมันจากเมล็ดสบู่ดำ เพื่อลดปัญหาการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างพืชอาหารและพืชพลังงาน ประโยชน์ของโรงงานต้นแบบนี้ใช้เพื่อการวิจัยพัฒนาและรวบรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อการขยายขนาดการผลิตในระดับอุตสาหกรรมในอนาคต และยังสามารถใช้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านการผลิตไบโอดีเซลคุณภาพสูงแก่ภาคการศึกษา และอุตสาหกรรมที่สนใจ โดยคาดหวังว่าในอนาคตเทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถเพิ่มสัดส่วนผสมน้ำมันไบโอดีเซลในปริมาณที่มากขึ้นสำหรับใช้ในยานยนต์ ลดปริมาณนำเข้าน้ำมันปิโตรเลียมจากต่างประเทศ สร้างมูลค่าเพิ่มให้วัตถุดิบด้านการเกษตร สร้างเสถียรภาพและความมั่นคงด้านอุปทานพลังงานชาติ และเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาภาวะโลกร้อนอีกด้วย

สหรัญ แก้วตา หน.ข่าว ปทุมธานี รายงาน




--!>