ปทุมธานี สาธิตฯ วไลยอลงกรณ์ ร่วมมือจุฬา-สพฐ. พลิกโฉมการศึกษาไทย เน้น Active Learning
ปทุมธานี สาธิตฯ วไลยอลงกรณ์ ร่วมมือจุฬา-สพฐ. พลิกโฉมการศึกษาไทย เน้น Active Learning
เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ผศ.ดร.สุพจน์ ทรายแก้ว อธิการบดีมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมด้วย รศ.ศศินันท์ เศรษฐวัฒน์บดี รองอธิการบดี และ ดร.นารี คูหาเรืองรอง ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้นำตัวอย่างนวัตกรรมการเรียนรู้แบบ Active Learning ร่วมงานแถลงข่าวประกาศนโยบายการปฏิรูปการเรียนรู้ของรัฐบาล โดยเป็นการร่วมมือสามฝ่ายได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยราชภัฏวไลยอลงกรณ์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ ในการสร้างพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจัดการเรียนรู้แบบ Active Learning โดยมี ศ.กิตติคุณ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานในการแถลงข่าว ณ ตึกนารีสโมสร ทำเนียบรัฐบาล
สำหรับนิทรรศการที่ มรภ.วไลยอลงกรณ์ ได้นำเสนอเป็นการนำเสนอในรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดย ดร.นารี คูหาเรืองรอง ผู้อำนวยการโรงเรียนสาธิตฯ กล่าวว่า โรงเรียนสาธิตฯ ของเราต้องการปรับการเรียนเปลี่ยนการสอน โดยก่อนหน้านี้สังเกตได้ว่า ครูผู้สอนจะถือตำราออกมาสอนหน้าห้อง แล้วเด็กก็ท่องแล้วก็สอบ แต่เมื่อได้พูดคุยกับผู้ปกครองแล้ว ผู้ปกครองมีความต้องการให้ลูก มีทักษะในการใช้ชีวิต สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวัน ซึ่งอธิการบดีได้ให้นโยบายว่าให้นักเรียนมาเรียนอย่างมีความสุข แต่ต้องมีทักษะพื้นฐานตามที่กำหนด คือ มีคุณธรรม จริยธรรม รักชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ มีเป้าหมายในชีวิต หลังจากนั้นโรงเรียนสาธิตฯ จึงได้เริ่มทำโครงการ โดยในปีที่ 1 เป็นการหาข้อมูล วิเคราะห์ พิจารณา ปีที่ 2 ให้ครูนำเสนอนวัตกรรมการเรียนการสอน สร้างครูต้นแบบ ปีที่ 3 เป็นการนำนวัตกรรมจากครูที่ได้นำเสนอสู่เด็กนักเรียน โดยนักเรียนจะนำเสนอกิจกรรมที่เป็นแบบ Active Learning ซึ่งเป็นที่มาในการจัดนิทรรศการให้กับรองนายกรัฐมนตรีได้ชมในครั้งนี้ โดยรองนายกรัฐมนตรีได้ให้ความสนใจข้อเสนอแนะ 3 ข้อ ที่โรงเรียนได้นำเสนอได้แก่ 1. นโยบายการขับเคลื่อนการปฏิรูปการศึกษาที่เน้นการเปลี่ยนแปลงในชั้นเรียน 2. การพัฒนาห้องเรียน 3 ดี เน้น Active Learning : GPAS 5 Steps โดยใช้หลักสูตรเป็นแนวทางการจัดกระบวนการ การบูรณาการ แทนการเน้นเนื้อหา เพิ่มเติมการสร้างทักษะ และ 3. การสร้างเครือข่ายขยายผลโดยครูต้นแบบเสมือนใยแมงมุมเต็มพื้นที่อย่างก้าวกระโดด
ดร.นารี กล่าวอีกว่า หลังจากปรับกระบวนการเรียนการสอนแล้วขณะนี้โรงเรียนของเรามีครู Coaching ที่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่ทั้งในพื้นที่ปทุมธานีและสระแก้ว นอกจากนี้โรงเรียนยังได้จัดทำคลิปการเรียนการสอนแบบ Active Learning จำนวนกว่าพันคลิป ซึ่งนักเรียนสามารถเรียนรู้ด้วยตนเองผ่านระบบออนไลน์ที่มีความพร้อม เพราะการเรียนรู้ด้วยตนเองนั้นจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญ ดร.นารีกล่าว
สหรัฐ แก้วตา หน.ข่าว ปทุมธานี รายงาน