ประธานศาลฎีกา แถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายของประธานศาลฎีกาตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่องาน “ความยุติธรรม ไม่มีวันหยุด”
วันนี้ (29 กันยายน 2563) เวลา 13.45 นาฬิกา นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานศาลฎีกา แถลงผลการดำเนินงานตามนโยบายของประธานศาลฎีกาตลอด 1 ปี ที่ผ่านมา ภายใต้ชื่องาน “ความยุติธรรม ไม่มีวันหยุด” ณ ห้องประชุมใหญ่ สำนักประธานศาลฎีกา ผ่านระบบการประชุมทางไกลผ่านจอภาพไปยังศาลยุติธรรมทั่วประเทศ
ภายในงาน ประธานศาลฎีกาได้กล่าวถึงผลการดำเนินงานตามนโยบายของประธานศาลฎีกา 5 ประการหลัก ที่กำหนดขึ้นจากการสอบถามความคิดเห็นจากประชาชน โดยมีการดำเนินงานในแต่ละด้านที่สำคัญ ดังนี้ นโยบายด้านที่ 1 ยกระดับการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของผู้ต้องหาและจำเลย โดยคำนึงถึงเหยื่ออาชญากรรม และความสงบสุขของสังคม ได้แก่ “การพัฒนาระบบการปล่อยชั่วคราว” โดยการให้มีการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันหยุด การออกคำแนะนำในเรื่องการขยายโอกาสในการปล่อยชั่วคราวการพัฒนาแบบคำร้องใบเดียวที่ไม่ต้องเสนอหลักประกันมาพร้อมกับคำร้องการออกคำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางในการปล่อยชั่วคราวในระหว่างสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ตลอดจนการส่งเสริมการใช้มาตรการทางเลือก เพื่อลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น เช่น การรอการกำหนดโทษ และการทำงานบริการสังคมหรือสาธารณประโยชน์แทนค่าปรับ เป็นต้น ซึ่งมีการติดตามผลการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง และได้รับความร่วมมือจากศาลยุติธรรมทั่วประเทศ โดยมีการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวในวันหยุดมากถึง 10,346 เรื่อง แบ่งเป็นคำร้องที่ศาลมีคำสั่งอนุญาต 8,312 เรื่อง คิดเป็นร้อยละ 80.3 ของคำร้องที่ประชาชนยื่นในวันหยุดราชการ นอกจากนี้ มีการใช้มาตรการทางเลือกเพื่อช่วยลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น โดยศาลอนุญาตให้จำเลยทำงานบริการสังคมแทนค่าปรับฯ จำนวน 10,482 คน คิดเป็นวันทำงาน 243,219 วัน เป็นการทำงานแทนค่าปรับ 121,609,500 บาท ซึ่งจำเลยไม่มีความสามารถทางเศรษฐกิจเพียงพอที่จะจ่ายค่าปรับได้ จึงส่งผลให้เกิดการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพและช่วยลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นอย่างเป็นรูปธรรม
นโยบายด้านที่ 2 ยกระดับมาตรฐานการพิจารณาพิพากษาคดี เพื่อให้ความยุติธรรมเป็นที่ประจักษ์ มุ่งเน้นการพัฒนาแบบประเมินตนเองฉบับศาลยุติธรรมไทย ตามแนวคิดของกรอบสากลเพื่อความเป็นเลิศทางการศาล (International Framework for Court Excellence) ของสมาคมระหว่างประเทศเพื่อความเป็นเลิศทางการศาล โดยทำการศึกษาแบบประเมินดังกล่าว และนำมาทดลองใช้ในศาลต้นแบบ ได้แก่ ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลาง ศาลภาษีอากรกลาง และศาลจังหวัดสมุทรปราการ จนกระทั่งมีการจัดทำ “แบบประเมินตนเองฉบับศาลยุติธรรม” (Self- Assessment: Court of Justice’s Thailand Version)ซึ่งมีการกำหนดรูปแบบและเนื้อหาการประเมินให้เหมาะสม
กับบริบทของศาลยุติธรรมไทย เพื่อให้ศาลทั่วประเทศเริ่มใช้ในปีงบประมาณถัดไป โดยแต่ละศาลจะต้องประเมินตนเองปีละ 2 ครั้ง เพื่อวางแผนการพัฒนาและบริหารของศาลตนในอนาคต โดยมุ่งเน้นสู่ความเป็นเลิศทางการศาลในระดับสากลต่อไป
นโยบายด้านที่ 3 นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรม
การพิจารณาพิพากษาคดี และการมีส่วนร่วมของประชาชน โดยคำนึงถึงช่องทางอื่นที่สะดวกและประหยัดสำหรับประชาชนที่ยังไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ ได้แก่ การส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีในการช่วยสนับสนุนการพิจารณาคดีของศาล ทั้งในเรื่องการยื่น ส่ง และรับคำคู่ความ การติดต่อกับประชาชน การให้ความรู้แก่ประชาชน และแจ้งสิทธิต่าง ๆ ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกคุมขังทราบ ทั้งนี้ ประธานศาลฎีกาได้ออกระเบียบราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรม ว่าด้วยการอ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งศาลฎีกาในคดีอาญาที่ศาลฎีกา โดยจัดให้มีการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพ พ.ศ.2563 และออกข้อกำหนดของประธานศาลฎีกา ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ.2563 เพื่อส่งเสริมการนำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการอำนวยความยุติธรรมให้มากขึ้น โดยมีสถิติการยื่นฟ้องคดีออนไลน์ ผ่านระบบ e-filing ของศาลยุติธรรมมากถึง 198,661 คดี ในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนกันยายน ที่ผ่านมา โดยอัตราการฟ้องคดีผ่านระบบออนไลน์ดังกล่าวสูงมากถึง ร้อยละ 250 ในช่วงเดือนเมษายน 2563 ซึ่งเป็นช่วงสถานการณ์การการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 และเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกเดือน
นโยบายด้านที่ 4 เสริมสร้างความเข้มแข็งของระบบการบริหารงานบุคคลด้วยการสร้างสมดุลระหว่างจริยธรรมและระบบอาวุโส และความรู้ความสามารถ ซึ่งเน้นย้ำให้บุคลากรศาลยุติธรรมทุกคนตระหนักถึงการทำหน้าที่ในฐานะผู้ให้บริการแก่ประชาชน และมีการดูแลบุคลากรให้ทำหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการสร้างระบบการตรวจสุขภาพร่างกายและจิตใจของผู้พิพากษาทุก 5 ปี ในส่วนของการพัฒนาความรู้ความสามารถและทักษะของบุคลากร นอกเหนือจากหลักสูตรประจำของสถาบันพัฒนาข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมซึ่งจัดขึ้นกว่า 50 หลักสูตร โดยมีบุคลากรที่เข้ารับการอบรม 6,382 คน ทั่วประเทศ ในปีงบประมาณที่ผ่านมาแล้ว มีการใช้วิธีการจัดฝึกอบรมผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ด้วยหัวข้อวิชาที่หลากหลายในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อส่งเสริมความรู้ในสหวิชาการของบุคลากรให้กว้างขวางมากยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง
นโยบายด้านที่ 5 สนับสนุนบทบาทของศาลในการบังคับใช้กฎหมายที่ส่งเสริมรักษาสิ่งแวดล้อม และที่ไม่ก่อภาระหรือเป็นผลร้ายต่อประชาชนและสังคม โดยมีการกำหนดแนวปฏิบัติในการบริหารจัดการศาลยุติธรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ภายใต้โครงการ “Green Court ศาลยุติธรรมยุคใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม”โดยจัดทำทะเบียนต้นไม้ในเขตพื้นที่ศาลทั่วประเทศ จำนวน 9,664 ต้น และปลูกป่าหรือต้นไม้เพิ่มเติมในเขตพื้นที่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ จำนวน 5,106 ต้น รวมเป็นจำนวนทั้งหมด 14,770 ต้น ซึ่งจะมีแผนการดูแลรักษาต้นไม้และปลูกป่าเพิ่มเติมต่อไป นอกจากนี้ยังได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานฯ เพื่อแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการบริหารจัดการคดีสิ่งแวดล้อมและร่างพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งแนวทางในการรักษาสิ่งแวดล้อมของประเทศต่อฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติต่อไป อีกทั้งมีการออกระเบียบของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเพื่อกำหนดแนวทางในการพิจารณากฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือเป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ พร้อมทั้งเตรียมการให้บุคลากรมีความรู้ความเข้าใจในบทบาทภายใต้ระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการช่วยแก้ปัญหากฎหมายมากเกินความจำเป็นของประเทศต่อไป
นอกจากการดำเนินงานตามนโยบาย 5 ประการดังกล่าวแล้ว ประธานศาลฎีกายังผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในศาลยุติธรรมอื่น เช่น การเปิดศาลฎีกาให้เป็น “ศูนย์การเรียนรู้ด้านกฎหมายและกระบวนการทางศาล” เพื่อให้ศาลเป็นของประชาชนอย่างแท้จริง การบริหารศาลยุติธรรมภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 โดยเน้นการร่วมเดินเคียงข้างกับประชาชนในสถานการณ์ยากลำบากดังกล่าว ผ่านโครงการ “ศาลยุติธรรมร่วมใจ ฝ่าภัยโควิด” ซึ่งกำหนดให้มีการลดภาระการดำเนินคดีและเพิ่มการให้บริการแก่ประชาชน นอกจากนี้ ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2562 ศาลยุติธรรมยังเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับภูมิภาคซึ่งมีความสำคัญ และประธานศาลฎีกายังมีบทบาทเป็นผู้นำการประชุมในฐานะประธานของสภาประธานศาลสูงสุดอาเซียนอีกด้วย
การดำเนินงานของประธานศาลฎีกาทั้งหมดมีเป้าหมายมุ่งไปที่ “ความพึงพอใจสูงสุดของประชาชน”เป็นสำคัญตามที่เคยให้สัญญาตั้งแต่วันแรกของการเข้ารับตำแหน่ง และประสบความสำเร็จได้จากการร่วมแรงร่วมใจกันของบุคลาการทุกฝ่ายในองค์กรศาลยุติธรรม ประธานศาลฎีกากล่าวขอบคุณทุกฝ่ายที่ให้การสนับสนุนการดำเนินภารกิจของศาลยุติธรรม ก่อนจะฝากข้อคิดให้ข้าราชการฝ่ายตุลาการศาลยุติธรรมทุกคน ให้ทำหน้าที่ยืนหยัดในการอำนวยความยุติธรรม โดยมีเป้าหมายที่ประโยชน์ของประชาชนเป็นสำคัญ เพราะก้าวต่อไปของศาลยุติธรรมจะมั่นคงได้ จำเป็นต้องได้รับความเชื่อมั่นศรัทธาจากประชาชน
สุดท้าย ประธานศาลฎีกาได้มอบ “แบบประเมินตนเองฉบับศาลยุติธรรมไทย”ให้เป็นของขวัญชิ้นสุดท้ายแก่ประชาชนก่อนครบว่าระการดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกาในเดือนกันยายนนี้ แบบประเมินนี้จะทำให้แต่ละศาลได้ทบทวนบทบาทภารกิจการทำงานของตนว่าได้บรรลุเป้าหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชนหรือไม่ หรือมีเรื่องใดที่อาจพัฒนาให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนได้อีกบ้าง โดยให้เน้นประชาชนเป็นจุดศูนย์กลางในการทำงานต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ เพื่อ “ลดช่องว่าง และสร้างความเชื่อมั่น” อันเป็นการช่วยสร้างทัศนคติ ความร่วมมือและสัมพันธภาพที่ดีระหว่างศาลยุติธรรมและประชาชนต่อไป
มหัทธพนธ์ เขื่อนเพ็ชรต์ / รายงาน