สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ชวนติดตาม 3 ปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ที่สุดแห่งปีในเดือน มิ.ย. ได้แก่ ไมโครมูน ดาวเสาร์ใกล้โลก และกลางวันนานที่สุด พร้อมเชิญชวนชาวเชียงใหม่ร่วมสัมผัสความสวยงามของวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากหลายชนิด

มิถุนายน 7, 2017 07:19 โดย opwnews
0
1027

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หน.งานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดเผยว่า วันที่ 9 มิถุนายนนี้ ดวงจันทร์จะโคจรอยู่ในระยะไกลโลกมากที่สุดในรอบปี ที่ระยะห่างประมาณ 406,402 กิโลเมตร เวลาประมาณ 05:21 น. ตามเวลาประเทศไทย และยังตรงกับวันที่ดวงจันทร์เต็มดวง (ดวงจันทร์เต็มดวงมากที่สุดเวลาประมาณ 20:11 น.) คืนดังกล่าวจึงมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กที่สุดในรอบปี หรือที่เรียกว่า ไมโครมูน หากเปรียบเทียบขนาดของดวงจันทร์เต็มดวง ช่วงไกลโลกที่สุดจะมีขนาดปรากฏเล็กกว่าช่วงที่ใกล้โลกที่สุดประมาณ 14% และมีความสว่างน้อยกว่าถึง 30% ครั้งถัดไปจะเกิดขึ้นในวันที่ 28 กรกฎาคม 2561 ที่ระยะห่างประมาณ 406,222 กิโลเมตร ซึ่งปกติแล้วดวงจันทร์โคจรรอบโลกเป็นวงรีจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออก 1 รอบ ใช้ระยะเวลาประมาณ 1 เดือน แต่ละเดือน จะมีทั้งวันที่ดวงจันทร์ไกลโลกและดวงจันทร์ใกล้โลก จุดที่ดวงจันทร์อยู่ใกล้โลกมากที่สุด เรียกว่า เปริจี (Perigee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 357,000 กิโลเมตร ส่วนจุดที่ดวงจันทร์อยู่ไกลโลกมากที่สุด เรียกว่า อะโปจี (Apogee) มีระยะห่างเฉลี่ยประมาณ 406,000 กิโลเมตร การที่ผู้คนบนโลกสามารถมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงในคืนที่โคจรเข้ามาใกล้โลกหรือไกลจากโลกนับว่าเป็นเรื่องปกติที่สามารถอธิบายได้ตามหลักการทางวิทยาศาสตร์

ด้าน ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา รองผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กล่าวว่า นอกจากปรากฏการณ์ดาราศาสตร์ใน 9 มิถุนายน ดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปีแล้ว ยังมีปรากฏการณ์ที่จะเกิดขึ้นในเดือนมิถุนายนนี้อีก ได้แก่ 15 มิถุนายน – ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี และ 21 มิถุนายน – กลางวันยาวนานที่สุดในรอบปี หรือวันครีษมายัน เตรียมพร้อมตั้งกล้องฯ ส่องดาวเสาร์ใกล้โลก คืน 15 มิถุนายน ชวนประชาชนสัมผัสวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์ 3 จุดสังเกตการณ์หลัก เชียงใหม่ โคราช ฉะเชิงเทรา และเครือข่ายอีกกว่า 265 แห่งทั่วประเทศ หวังสร้างแรงบันดาลใจให้เยาวชนไทยสนใจดาราศาสตร์กันมากขึ้น

ทั้งนี้ สดร. เตรียมจัดกิจกรรมสังเกตการณ์ดาวเสาร์ใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 15 มิถุนายน 2560 ตั้งแต่เวลา 18.00-21.00 น. ฟรี !!! ไม่เสียค่าใช้จ่าย เชิญชวนประชาชนร่วมสัมผัสความสวยงามของวงแหวนดาวเสาร์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หลากหลายชนิด พบกันได้ ณ 3 จุด สังเกตการณ์หลัก ได้แก่ 1) ลานกิจกรรมหน้าศูนย์การค้าเมญ่า ไลฟ์สไตล์ ช้อปปิ้ง เซ็นเตอร์ เชียงใหม่ 2) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา นครราชสีมา และ 3) หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา นอกจากนี้ ยังร่วมกับเครือข่ายดาราศาสตร์อีกกว่า 265 แห่งทั่วประเทศ ในโครงการกระจายโอกาสการเรียนรู้ดาราศาสตร์ ซึ่งได้รับมอบกล้องโทรทรรศน์สำหรับจัดกิจกรรมสังเกตวัตถุท้องฟ้าจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ได้เตรียมกล้องโทรทรรศ์ไว้ให้นักเรียนและประชาชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ร่วมส่องดาวเสาร์ใกล้โลกในคืนดังกล่าวอีกด้วย ตรวจสอบจุดสังเกตการณ์ได้ที่ www.facebook.com/NARITpage

PNOHT600607001013302_07062017_012606 PNOHT600607001013303_07062017_012606 PNOHT600607001013304_07062017_012606

 




--!>