ศาลยุติธรรมทั่วประเทศ กว่า 220 ศาล พร้อมแล้ว จัดไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ป.วิ.พ.มาตรา 20 ตรี เริ่ม 8 พ.ย.นี้ รวดเร็ว-ประหยัดค่าใช้จ่ายทางคดี

พฤศจิกายน 7, 2020 15:28 โดย opwnews
0
1093

187853

นายสุริยัณห์ หงษ์วิไล โฆษกศาลยุติธรรม เปิดเผยถึงการจัดระบบไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี ที่จะมีผลบังคับใช้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 20 ตรี ตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.นี้ ว่า การดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทของศาลยุติธรรมที่ผ่านมา เป็นระบบไกล่เกลี่ยที่เมื่อมีการฟ้องคดีแล้วจนถึงก่อนจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดในคดีนั้น ๆ โดยกระบวนพิจารณาทางเลือกที่ระงับข้อพิพาทด้วยการไกล่เกลี่ย ประนีประนอมยอมความกันนั้นส่งเสริมการหาทางออกให้ทั้ง 2 ฝ่ายบรรลุผลข้อตกลงร่วมกันจากความสมัครใจของคู่ความทุกฝ่ายในลักษณะการยุติข้อพิพาทด้วยความสมานฉันท์ต่อกัน ซึ่งขั้นตอนการไกล่เกลี่ยที่ผ่านมาจะมี 2 ลักษณะ คือ 1.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนถึงวันนัดพิจารณา โดยหลังจากมีการฟ้องคดี โจทก์อาจแสดงความประสงค์ต่อศาลเพื่อขอให้นำคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ย หรือเมื่อจำเลยได้รับสำเนาคำฟ้องอาจแจ้งความประสงค์เพื่อขอไกล่เกลี่ย 2.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างการพิจารณาคดีของศาล ซึ่งคู่ความสามารถขอให้ศาลใช้ระบบไกล่เกลี่ยเวลาใด ๆ ก็ได้ระหว่างการพิจารณาคดี ขณะที่หากคู่ความ 2 ฝ่ายไกล่เกลี่ยตกลงกันได้ก็จะนำมาสู่การถอนฟ้อง ถอนคำร้องทุกข์ หรือศาลมีคำพิพากษาไปตามสัญญาประนีประนอมยอมความที่คู่ความตกลงจัดทำขึ้น
โดยที่ผ่านมา การนำระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทกระบวนการยุติธรรมทางเลือกมาใช้ ควบคู่กับการพิจารณาพิากษาคดีระบบปกติ ถือว่าได้ผลเป็นที่ยอมรับของคู่ความและมีความสำเร็จในการยุติคดีให้เสร็จได้โดยเร็ว ซึ่งช่วงปี 2562 ตั้งแต่เดือน ต.ค.62 – ต.ค.63 ตามรายงานสถิติการไกล่เกลี่ยคดีของศาลยุติธรรม ประกอบด้วย ศาลสูง , ศาลยุติธรรมในพื้นที่กรุงเทพฯ , ศาลชำนัญพิเศษ (อาทิ ศาลแรงงาน ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ) , ศาลยุติธรรม (ศาลชั้นต้น) ภาค 1-9 , ศาลอาญาคดีทุจริตฯ ในคดีแพ่ง คดีผู้บริโภค คดีอาญา รวมทั้งหมด 266,315 คดี , ไกล่เกลี่ยสำเร็จ 233,651 คดี (มีทั้งการถอนฟ้อง หลักหมื่นคดี และยอมความ หลักแสนคดี ) ไม่สำเร็จ 14,080 คดี จำนวนทุนทรัพย์ที่ไกล่เกลี่ยสำเร็จ (ที่มีการฟ้องกัน) ทั้งสิ้น 614,175,702,363.19 บาท
ขณะที่ช่วงปีงบประมาณ 2563 ระหว่างที่เกิดสถานการณ์แพร่ระบาด COVID-19 เราส่งเสริมระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ที่ถือว่ามีความทันสมัย โดยสถิติการไกล่เกลี่ยในศาลอุทธรณ์ภาค , ศาลอาญา-ศาลแพ่งในพื้นที่กรุงเทพฯ , ศาลชำนัญพิเศษ , ศาลยุติธรรม (ศาลชั้นต้น) ภาค 1-9 ในคดีแพ่ง คดีผู้บริโภค คดีอาญา ตั้งแต่เดือน ก.พ.-ก.ย.63 พบว่า มีคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ของ 221 ศาล ทั้งหมด 22,824 คดี ดำเนินการสำเร็จ 19,531 คดี ไม่สำเร็จ 1,534 คดี
ส่วนปีงบประมาณ 2564 เริ่มต้นวันที่ 1 ต.ค.63 – 6 พ.ย.63 พบว่า มีคดีเข้าสู่ระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ของ 226 ศาล จำนวน 5,760 คดี โดยมีคดีเข้าสู่ระบบเพิ่มด้วย 89 คดี ซึ่งศาลได้ดำเนินการไกล่เกลี่ยสำเร็จ 4,206 คดี ไม่สำเร็จ 413 คดี
นายสุริยัณห์ โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวอีกว่า จากแนวทางปฏิบัติและผลสำเร็จการไกล่เลี่ยคดีในศาลยุติธรรมที่ผ่านมา จนได้ขยายผลต่อยอดสู่การพัฒนาให้มีระบบไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 20 ตรี ที่ผลบังคับใช้กำลังจะเริ่มขึ้นเดือน พ.ย.นั้น จะส่งผลให้ 1.บุคคลที่อาจจะกลายเป็นคู่ความในข้อพิพาทที่กำลังจะเกิดขึ้น สามารถยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจได้เพื่อให้แต่งตั้งผู้ประนีประนอมทำหน้าที่ไกล่เกลี่ย และหากไกล่เกลี่ยสำเร็จก็สามารถจัดทำสัญญาประนีประนอมยอมความได้ รวมทั้งสามารถยื่นคำร้องขอต่อศาลขอให้พิพากษาตามยอมได้ (คำพิพากษาตามยอม คือ คำพิพากษาของศาลตามที่คู่ความตกลงประนีประนอมยอมความกัน) ซึ่งระบบไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องคดีที่เกิดขึ้นใหม่นี้ สามารถยุติข้อพิพาทได้โดยคู่กรณีไม่ต้องนำคดีมาฟ้องกัน ทำให้ประหยัดเวลา ที่สำคัญไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการต้องฟ้องเป็นคดีความในศาล ขณะที่คู่กรณีก็ได้รับผลในการปฏิบัติในทันที
“เพื่อให้การดำเนินการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องดังกล่าว เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สำนักงานศาลยุติธรรม จึงมีการกำหนดแผนและแนวทางให้บริการด้านการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องแก่ศาลยุติธรรมทั่วประเทศแล้วเพื่อใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งในการยุติข้อพิพาท รวมทั้งยังมีข้อกำหนดประธานศาลฎีกาว่าด้วยการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง พ.ศ.2563 ประกาศสำนักงานศาลยุติธรรมเรื่องไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี และแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ทั้งศาลและฝ่ายธุรการปฏิบัติหน้าที่ในทิศทางเดียวกัน อำนวยความยุติธรรมอย่างสะดวก ด้วยเวลารวดเร็ว และประหยัดค่าใช้จ่าย” โฆษกศาลยุติธรรม กล่าวย้ำ

 

มหัทธพนธ์  เขื่อนเพ็ชรต์ / รายงาน




--!>