กองทัพอากาศจัดพิธีบรรจุประจำการเครื่องบินลำเลียงแบบที่ 15 ก (Airbus ACJ320) และเครื่องบินฝึกแบบที่ 21 (Diamond DA-40NG) เข้าประจำการ ณ กองบิน 6 ดอนเมือง
วันนี้ (21ธ.ค.63) พลอากาศเอก แอร์บูล สุทธิวรรณ ผู้บัญชาการทหารอากาศ เป็นประธานในพิธีบรรจุเครื่องบิน Airbus ACJ320 เข้าประจำการ ณ ฝูงบิน 602 กองบิน 6 ดอนเมือง ซึ่งกองทัพอากาศได้รับอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เมื่อปีงบประมาณ 2561 ให้ดำเนินโครงการจัดหาเครื่องบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญ จำนวน 1 เครื่อง พร้อมอะไหล่ อุปกรณ์ ระบบส่งกำลังบำรุง การฝึกอบรม และโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นการทดแทนอากาศยานเดิมที่มีแผนการปลดประจำการ ในภารกิจการสนับสนุนภารกิจลำเลียงทางอากาศสำหรับการปฏิบัติการทางทหารที่มิใช่การรบ ได้แก่ การช่วยเหลือทางมนุษยธรรมแก่ผู้ประสบภัยทางธรรมชาติ การอพยพคนไทยในต่างแดน และการปฏิบัติการเพื่อรักษาสันติภาพ โดยกองทัพอากาศจะต้องเตรียมความพร้อมเพื่อปฏิบัติภารกิจซึ่งมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นตามภัยพิบัติและวิกฤตการณ์ที่เกิดขึ้น ตลอดจนการบินรับ-ส่งบุคคลสำคัญทุกระดับ อาทิ องคมนตรี นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี ราชอาคันตุกะ หรือแขกของรัฐบาล
การบรรจุประจำการเครื่องบินดังกล่าว จะทำให้กองทัพอากาศสามารถปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายได้อย่างต่อเนื่อง ทันต่อสถานการณ์ และมีประสิทธิภาพ ประหยัดงบประมาณได้มากกว่าการใช้เครื่องบินพาณิชย์เช่าเหมาลำ และสามารถตอบสนองภารกิจได้อย่างรวดเร็ว กรณีมีความจำเป็นเร่งด่วน
เครื่องบินลำเลียงแบบ Airbus ACJ320 เครื่องนี้ ได้จดทะเบียนอากาศยานกับสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย เป็นไปตามมาตรฐานขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization : ICAO) ซึ่งทำให้สามารถทำการบินในน่านฟ้าสากลได้
ในโอกาสนี้ กองทัพอากาศได้ประกอบพิธีบรรจุเครื่องบินฝึกแบบที่ 21 (Diamond DA-40NG) จำนวน 8 เครื่อง เพื่อใช้สำหรับการฝึกบินที่ตอบสนองต่อเทคโนโลยีในการบินปัจจุบัน โดยมีระบบควบคุมการบิน และระบบเครื่องช่วยเดินอากาศที่ทันสมัย ทำให้บุคลากรของกองทัพอากาศที่ฝึกบินกับเครื่องบินฝึกแบบที่ 21 (Diamond DA-40NG) มีความรู้ความสามารถที่จะปฏิบัติกับอากาศยานที่สมรรถนะสูงขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยบรรจุเข้าประจำการที่ ฝูงบิน 604 กองบิน 6
สำหรับการพิจารณาคัดเลือกแบบเครื่องบินนั้น กองทัพอากาศได้กำหนดแนวทางจัดหาให้มีความเหมาะสมกับกรอบงบประมาณที่ได้รับ และมีคุณลักษณะใกล้เคียงกัน (Commonality) กับเครื่องบินที่กองทัพอากาศมีประจำการอยู่เดิม ซึ่งเป็นการลดภาระด้านการฝึกอบรมบุคลากร การใช้งานอุปกรณ์สนับสนุนภาคพื้น และการซ่อมบำรุงต่าง ๆ ที่สามารถดำเนินการได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่าการซ่อมบำรุงอากาศยานหลากหลายแบบ ส่งผลให้ลดการใช้งบประมาณในระยะยาว
กองทัพอากาศ ขอยืนยันว่าโครงการฯ ในครั้งนี้ เป็นไปตามแผนการบรรจุประจำการเครื่องบินให้มีความพร้อมในการปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมายในทุกมิติได้อย่างมีประสิทธิภาพ กระบวนการดำเนินการทุกขั้นตอนเป็นไปอย่างถูกต้อง โปร่งใส มีความคุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุดต่อกองทัพอากาศ ประเทศชาติ และประชาชน