ศาลยุติธรรมแถลงผลงานปี 63 ศาลชั้นต้น-ศาลสูง ทำคดีเสร็จเร็วเกือบ 100% ปี 2564 มุ่ง SMART COURT ตามนโยบาย 5 ส. ของประธานศาลฎีกา

กุมภาพันธ์ 1, 2021 06:22 โดย opwnews
0
1365

209859

วันนี้(1 ก.พ. 2564) นายพงษ์เดช วานิชกิตติกูล เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม แถลงผลการดำเนินงานของศาลยุติธรรมในรอบปี 2563 และการบริหารงานสำนักงานศาลยุติธรรมพร้อมนโยบายการส่งเสริมงานตุลาการในอนาคต

ppt-2_Page_1

โดยการบริหารจัดการคดีช่วงปี 2563 สถิติการพิจารณาพิพากษาคดีนับตั้งแต่เดือน ม.ค.- ธ.ค.63 ศาลชั้นต้น ศาลชั้นอุทธรณ์ และศาลฎีกา ทำคดีเสร็จรวม 1,541,242 คดี จากจำนวนคดีค้างเก่าและคดีรับฟ้องใหม่ทั้งหมด 1,779,789 คดี คงเหลือคดีค้างพิจารณามาในปี 2564 จำนวน 238,547 คดี ซึ่งการบริหารจัดการคดีให้เสร็จสิ้นโดยรวดเร็วเป็นไปตามเป้าหมายของนโยบายการกำหนดระยะเวลาพิจารณาในศาลชั้นต้นที่จะต้องไม่เกิน 2 ปี ซึ่งศาลชั้นต้นดำเนินการได้ตามเป้าหมายถึง 99.93% คดีในศาลชั้นอุทธรณ์ต้องไม่เกิน 6 เดือนทำได้ตามเป้า 97.59% คดีในศาลฎีกาพิจารณาไม่เกิน 1 ปี ทำได้ตามเป้า 96.91%

ppt-2_Page_2

สำหรับข้อหาที่มีการฟ้องคดีสูงสุดจากทั่วประเทศ 10 อันดับแรก ได้แก่ 1) พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ 352,805 ข้อหา  2) คดีผู้บริโภค เรื่องสินเชื่อบุคคล 234,023 ข้อหา  3) คดีผู้บริโภค เรื่องบัตรเครดิต 181,205 ข้อหา  4) คดีผู้บริโภค เรื่องกู้ยืม 141,274 ข้อหา  5) พ.ร.บ.จราจรทางบก 123,266 ข้อหา
6) คดีแพ่ง เรื่องขอจัดการมรดก 97,493 ข้อหา  7) คดีผู้บริโภค เรื่องเช่าซื้อ (รถยนต์) 75,842 ข้อหา
8) คดีแพ่ง เรื่องค้ำประกัน 56,894 ข้อหา  9) พ.ร.บ.การพนัน 37,526 ข้อหา  10) คดีแพ่ง เรื่องละเมิด 35,690 ข้อหา โดยเมื่อเทียบกับปี 2562 พบว่า พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ และคดีผู้บริโภคเรื่องสินเชื่อบุคคลยังเป็นข้อหาที่มีผู้กระทำความผิดสูงสุด

ppt-2_Page_3ppt-2_Page_4

ด้านการพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลยในคดีอาญา ทั้งชั้นฝากขังและชั้นพิจารณาคดี สถิติการปล่อยชั่วคราวของศาลชั้นต้นทั่วประเทศ มีคำร้องยื่นทั้งหมด 237,875 คำร้อง(1 คำร้อง/1 คน) อนุญาตปล่อยชั่วคราว 217,094 คำร้อง คิดเป็น 91.26%

โดยเมื่อนางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกาคนที่ 46 เข้ามารับตำแหน่งและได้มอบนโยบายการบริหารงานศาลยุติธรรมปี พ.ศ.2563-2564 ไว้รวม 5 ข้อ โดยข้อ 2 เรื่องสมดุล คือ การสร้างดุลยภาพแห่งสิทธิ ได้เน้นย้ำเรื่องลดการคุมขังที่ไม่จำเป็นทุกขั้นตอน และยกระดับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของจำเลยระหว่างการต่อสู้คดีในศาล สำนักงานศาลยุติธรรมได้ดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมการใช้นวัตกรรมต่าง ๆ ในรูปแบบ Smart Court เข้ามาช่วยงานตุลาการดังกล่าว รวมทั้งสร้างช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงกระบวนการยุติธรรมด้านประกันตัวได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว ผ่านการยื่นประกันแบบออนไลน์ด้วยระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม หรือ CIOS (ซีออส) ทางเว็บไซต์ https://cios.coj.go.th หรือสามารถเข้าใช้บริการผ่าน COJ App ที่ยื่นคำขอประกันได้โดยไม่ต้องเดินทางมาศาล สามารถทราบคำสั่งและดำเนินการอื่นที่เกี่ยวข้องได้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่วันที่ 5 ม.ค. 64 ขณะนี้มีการยื่นประกันออนไลน์แล้วแยกเป็นกรณียื่นคำร้องขอปล่อยชั่วคราวรวม 45 เรื่อง จำนวน 41 คน ซึ่งทราบคำสั่งแล้วมีทั้งที่อนุญาตและไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว และกรณีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งไม่อนุญาตปล่อยชั่วคราว รวม 7 เรื่อง จำนวน 6 คน โดยการยื่นประกันช่องทางนี้เป็นส่วนที่ดำเนินการนอกเหนือจากการที่ผู้ขอประกันจะยื่นเอกสารคำขอประกันได้เองที่ศาลในเขตอำนาจพื้นที่ของคดีนั้น ๆ ได้ทุกวันโดยศาลพิจารณาแบบไม่มีวันหยุด อันเป็นการคุ้มครองสิทธิประกันตัวผู้ต้องหา/จำเลยทุกคนทุกสถานะอย่างเท่าเทียม

ppt-2_Page_5ppt-2_Page_6ppt-2_Page_7

ขณะที่การพิจารณาปล่อยชั่วคราวผู้ต้องหา/จำเลยนั้น ศาลยุติธรรมก็ยังคงใช้กำไล EM เข้ามายกระดับการคุ้มครองสิทธิขอประกันตัวด้วย ซึ่งทุกคนไม่ว่าฐานะใดก็มีสิทธิได้รับการปล่อยชั่วคราว และได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสม ซึ่งรอบปี 2563 มีการใช้กำไล EM จำนวน 6,638 เครื่อง ดังนี้ การให้ประกันชั้นสอบสวน จำนวน 3,543 คดี ชั้นพิจารณา 2,105 คดี ชั้นอุทธรณ์-ฎีกา 990 คดี

นอกจากนี้การมุ่งสู่ SMART COURT ศาลยุติธรรมยังนำสื่อดิจิทัลสังคมออนไลน์ อาทิ โปรแกรม ZOOM , Microsoft Teams และแอปพลิเคชั่น LINE มาสนับสนุนการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทแบบออนไลน์ด้วย ซึ่งการจัดไกล่เกลี่ยออนไลน์ ดำเนินการทั้งกรณีก่อนฟ้องตามกฎหมายใหม่ ประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาตรา 20 ตรี และกรณีหลังฟ้อง ซึ่งนับตั้งแต่เดือน ก.พ.-ธ.ค.63 พบว่าไกล่เกลี่ยสำเร็จ 30,454 คดี ทุนทรัพย์รวม 14,979,372,822.18 บาท จากทั้งหมด 33,932 คดี คิดเป็น 89.75% โดยระบบไกล่เกลี่ยออนไลน์ ในอนาคตเราตั้งเป้าหมายที่จะให้ดำเนินการเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 10% ด้วย ซึ่งคู่ความที่ประสงค์จะเข้าไกล่เกลี่ยออนไลน์แบบก่อนฟ้องคดี สามารถยื่นคำขอผ่านระบบ CIOS (ซีออส)
ที่ https://cios.coj.go.th และแบบหลังฟ้องยื่นได้ผ่านระบบ e-Filing Version 3 (อีไฟลิ่ง) ทาง
https://efiling3.coj.go.th/eFiling หรือเข้าใช้บริการผ่านทาง COJ App

ด้านการบริหารงานอำนวยความยุติธรรมให้ทั่วถึงในทุกพื้นที่ ช่วงปีที่ผ่านมามีการเปิดศาลเพิ่ม ได้แก่ ศาลแขวงเชียงดาว ศาลแขวงกระบี่ ศาลแขวงตรัง  ปัจจุบันจึงมีศาลชั้นต้นรวมกับศาลชั้นอุทธรณ์และศาลฎีกาแล้วทั้งสิ้น 283 ศาล นอกจากนี้ยังผลักดันออกกฎหมายใหม่ ระเบียบ ข้อกำหนด ข้อบังคับ และคำแนะนำของประธานศาลฎีกา เพิ่มอีก 17 เรื่อง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของศาลยุติธรรมทั่วประเทศด้วย

ppt-2_Page_8

ด้านการจัดการระบบรักษาความปลอดภัย และเจ้าพนักงานตำรวจศาล หรือคอร์ทมาแชล (Court Marshal) ปัจจุบันเรามีคอร์ทมาแชลรวมอัตรากำลัง (ชาย-หญิง) ระดับปฏิบัติการทั้งสิ้น 312 นาย จัดให้ประจำที่ศูนย์รักษาความปลอดภัย สำนักงานศาลยุติธรรม (ส่วนกลาง) 57 นาย และจัดสรรไปยังศาลกับสำนักงานศาลยุติธรรมพื้นที่ กทม.- ภูมิภาคอีก 207 แห่ง โดยภารกิจคอร์ทมาแชลปรากฏผลงานดังนี้ สืบสวนติดตามจับกุมบุคคลตามหมายจับ 2,050 หมายจับ ส่วนใหญ่เป็นในคดี พ.ร.บ.ยาเสพติดฯ รองลงมา เช่น พ.ร.บ.จราจรทางบก ลักทรัพย์ ภารกิจงานสร้างระบบและมาตรการรักษาความปลอดภัยผู้พิพากษา ทรัพย์สินของศาลและสำนักงานยุติธรรม จำนวน 263 ครั้ง อาทิ รักษาความปลอดภัย  การพิจารณาคดีความมั่นคง คดีสำคัญและเป็นที่สนใจของประชาชน และป้องกันเหตุกรณีมีผู้ต้องขังรายสำคัญที่ต้องระมัดระวังการควบคุม ด้านสถิติเหตุไม่ปลอดภัยที่เกิดขึ้นภายในศาลตามแผนควบคุมภาวะฉุกเฉิน (Emergency Plan) พบเหตุเกิดขึ้น 174 ครั้ง เช่น พกสิ่งของต้องห้าม ผู้ต้องหา/จำเลยพยายามหลบหนี บุกรุกพื้นที่หวงห้าม ขับรถที่ลักเข้ามาในศาล โดยมาตรการจัดการกับเหตุที่เกิดขึ้นดังกล่าวมีทั้งการตั้งสำนวนคดีละเมิดอำนาจศาล และส่งเจ้าหน้าที่ดำเนินคดีตามกฎหมาย อย่างไรก็ดี ตามเหตุผลความจำเป็นในการปฏิบัติภารกิจดังกล่าวให้เพียงพอต่อจำนวนศาลหรือสำนักงานศาลยุติธรรมแต่ละแห่ง ในปีงบประมาณ 2565-2567 จึงมีแผนที่จะขอรับคอร์ทมาแชลเพิ่มอีก 871 นาย (กรอบอัตราทั้งหมด 1,180 นาย)

ppt-2_Page_9

นอกจากภารกิจอำนวยความยุติธรรมแล้ว สำนักงานศาลยุติธรรม ยังเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่ควรสอดแทรก กระจายความรู้ทางกฎหมายเบื้องต้นให้ไปสู่ภายนอกด้วยเพื่อจะรับทราบถึงสิทธิของตน และปกป้องสิทธิอาจถูกละเมิดได้ ที่ผ่านมาจึงได้ดำเนินกิจกรรมทั้งการตอบปัญหากฎหมายระดับมัธยมศึกษา ระดับอุดมศึกษา,  โครงการค่ายต้นกล้าตุลาการที่เปิดโอกาสนักเรียนมัธยมศึกษาเรียนรู้ด้านกฎหมายที่ใช้ได้ในชีวิตประจำวันและทักษะมุ่งสู่การเป็นนักกฎหมาย/ผู้พิพากษา ซึ่งจัดมาแล้ว 10 รุ่น จำนวน 1,244 คน โดยปีงบประมาณ 2564 กำลังรับสมัครรุ่นที่ 11 จนถึงวันที่ 5 ก.พ.นี้, โครงการเยาวชนไทยหัวใจเดียวกันซึ่งกลุ่มเป้าหมายเป็นเยาวชนอายุ 15-18 ปี พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับการอบรมให้ความรู้ สิทธิหน้าที่ด้านกฎหมายของเด็กและเยาวชน รวมถึงกระบวนพิจารณาพิพากษาคดีของศาล ก็จัดอบรมมาแล้ว 7 รุ่น จำนวน 847 คน โดยขณะนี้กำลังติดตามสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดก่อนว่าจะจัดรุ่นที่ 8 ได้ในช่วงเดือนใด นอกจากนี้ยังมีการจัดหลักสูตรอบรมสื่อมวลชน (สศย.) ด้วย เพื่อให้สื่อมวลชนได้รับทราบข้อปฏิบัติในศาล รวมทั้งข้อกฎหมายที่ควรระมัดระวังในการนำเสนอข่าว-ภาพข่าว ไม่ละเมิดบุคคลอื่น ขณะเดียวกันสำนักงานศาลยุติธรรมก็จะดำเนินการเผยแพร่ความรู้ต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์แก่พี่น้องประชาชนผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ให้มากยิ่งขึ้นเพื่อสนับสนุนนโยบายของประธานศาลฎีกาที่ให้ศาลยุติธรรมเผยแพร่ประชาสัมพันธ์และให้ความรู้เกี่ยวกับกฎหมาย ขั้นตอนการดำเนินงานของศาลยุติธรรมอย่างเข้าถึงและเข้าใจ ให้เป็นรูปธรรมได้โดยเร็วด้วย

“การดำเนินงานส่วนต่าง ๆ เหล่านี้ ศาลยุติธรรมและสำนักงานศาลยุติธรรม มุ่งหวังที่จะให้คู่ความ ผู้เกี่ยวข้องในคดี ได้รับการโอกาสแห่งความยุติธรรมอย่างเหมาะสม ปลอดภัย เท่าเทียม ทั่วถึง และภาคสังคมได้ประโยชน์ในการศึกษาข้อกฎหมายเบื้องต้นผ่านโครงการ/กิจกรรมอบรมต่าง ๆ
ซึ่งศาลยุติธรรมพร้อมก้าวหน้าไปอย่างมั่นคงทั้งการทำหน้าที่ตามกฎหมายและเคียงคู่สังคม ขณะที่ห้วงเวลานี้เราจะก้าวสู่ Smart Court ก็พร้อมพัฒนานวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเหมาะกับสภาพการณ์ปัจจุบันเพื่อจะนำพาความยุติธรรมถึงมือทุกคนแม้ในที่ห่างไกล ตามนโยบายหลัก 5 ด้านหรือ 5 ส.ของท่านประธานศาลฎีกา เสมอภาค-สมดุล-สร้างสรรค์-ส่งเสริม-ส่วนร่วม”

 




--!>