คลินิกไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง20ตรีส่งเสริมให้คู่พิพาทเจรจากันได้โดยไม่ต้องขึ้นศาล
วันนี้(19 มี.ค.64) นายสันติ วงศ์รัตนานนท์ อธิบดีผู้พิพากษาศาลแพ่ง มีดำริให้เปิดโครงการ “คลินิกไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง 20 ตรี“ หรือ ”ศูนย์ให้คำปรึกษาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี”
สืบเนื่องจากได้มีพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 32) พ.ศ.2563 มาตรา 3 ให้เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี เป็นมาตรา 20 ตรี โดยมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 8 พ.ย.2563 ต่อมาได้มีข้อกำหนดของประธานศาลฎีกาว่าด้วยการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง พ.ศ.2563 ประกาศ ณ วันที่ 4 พ.ย.2563 ศาลแพ่งจึงได้มีการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ซึ่งเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย และเป็นการสนับสนุนให้คู่พิพาทสามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี โดยการส่งเสริมให้คู่พิพาทได้เจรจาหาข้อยุติและประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างกัน โดยไม่ต้องฟ้องร้องคดีต่อศาล และศาลแพ่งได้ออกระเบียบศาลแพ่ง ว่าด้วยแนวทางดำเนินการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี พ.ศ.2563 ลงวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2563 เพื่อใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานด้านการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี
ศาลแพ่งตระหนักถึงความสำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนนโยบายในการส่งเสริมการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ซึ่งเป็นการระงับข้อพิพาททางเลือกที่สะดวก รวดเร็ว ประหยัดเวลา และค่าใช้จ่าย และเป็นการสนับสนุนให้คู่พิพาทสามารถเข้าถึงการอำนวยความยุติธรรมด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องคดี โดยการส่งเสริมให้คู่พิพาทได้เจรจาหาข้อยุติและประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างกันโดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาล จึงได้จัดทำโครงการ “คลินิกไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง 20 ตรี “ หรือ ”ศูนย์ให้คำปรึกษาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี” ขึ้นโดยผ่านทาง Line Official Accountซึ่งใช้ชื่อบัญชีทางการว่า “คลินิกก่อนฟ้อง 20 ตรี”
(Line Official Account ID : @315qkkbr) เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางในการสี่อสารและให้บริการคู่กรณีที่มีข้อพิพาทก่อนฟ้องในเขตอำนาจของศาลแพ่งและประชาชนทั่วไป และเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการรณรงค์ประชาสัมพันธ์การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ดังนี้
1.เพิ่มช่องทางในการสี่อสารและให้บริการคู่กรณีที่มีข้อพิพาทก่อนฟ้องในเขตอำนาจของศาลแพ่งและประชาชนทั่วไป ผ่านทาง 1 on 1 Chat หรือการโทรผ่าน Line Call โดยศาลแพ่งจัดให้มีเจ้าหน้าที่ประจำศูนย์ไกล่เกลี่ยและประนอมข้อพิพาทประจำศาลแพ่ง แบบ 1 ต่อ 1 ทำหน้าที่ในการ
ให้คำปรึกษาการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ในวันและเวลาราชการ และมี Feature การตอบรับอัตโนมัติในกรณีมีผู้สอบถามนอกเวลาราชการไว้ โดยเจ้าหน้าที่จะสามารถติดตามและตอบกลับข้อความต่าง ๆ ในแต่ละห้องแชทได้ในภายหลังต่อไป
2.มีการประชาสัมพันธ์ความรู้ด้านการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี โดยแยกเป็นหมวดหมู่ ผ่านทาง Timeline Post ซึ่งผู้ติดตามสามารถเข้ามาดู
คอนเทนต์ในส่วนนี้ จากทาง POSTS ของ Line Official Account ดังกล่าว หรือจาก Timeline ของผู้ติดตาม ทั้งยังสามารถแสดงความคิดเห็นหรือแชร์ออกไปที่ Timeline ของผู้ติดตาม Line Official Account ดังกล่าวหรือบัญชีไลน์ต่าง ๆ ได้
3.เป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงข้อมูลไปยังแหล่งข้อมูลในเว็บไซต์สำคัญต่าง ๆ เกี่ยวกับกระบวนการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ได้แก่ เว็บไซต์ของศาลแพ่ง เว็บไซต์ระบบค้นหาเขตอำนาจศาล เว็บไซต์เข้าสู่ระบบยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ผ่านทางระบบ CIOS และ ผ่านทาง Rich Menu ที่เป็นเมนูด้านล่างแชท ที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถเข้าสู่ระบบยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ย ก่อนฟ้องได้โดยสะดวก รวดเร็ว
ทั้งนี้ คู่กรณีที่มีข้อพิพาทก่อนฟ้องหรือประชาชนทั่วไปที่สนใจสามารถเข้าร่วม “คลินิกก่อนฟ้อง 20 ตรี” ได้ โดยการเพิ่มเพื่อนจาก Line Official Account ID : @315qkkbr หรือผ่านทาง QR Code ด้านล่างนี้ ซึ่งจะช่วยให้การติดต่อสื่อสารด้านการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ระหว่างศาลแพ่งและประชาชนเป็นไปโดยง่าย อีกทั้งยังช่วยให้สามารถส่งต่อข้อมูลหรือรณรงค์ประชาสัมพันธ์ข่าวสารการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 20 ตรี ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น อันเป็นการสนับสนุนนโยบาย นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ภายใต้หลักการ “บริสุทธิ์ ยุติธรรม”(Virtuous Justice) ตามแนวทาง 5 ประการ “เสมอภาค สมดุล สร้างสรรค์ ส่งเสริม ส่วนร่วม” (Equality Balance Creativity Promotion Involvement : EBCPI) และแผนยุทธศาสตร์ศาลยุติธรรม พ.ศ.2561-2564 ที่มุ่งเน้นการอำนวยความยุติธรรม การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และสร้างโอกาสความเสมอภาคเท่าเทียมกันทางสังคม และการเข้าถึงกระบวนการของศาลได้โดยง่าย สะดวก รวดเร็ว และทันสมัย ภายใต้ยุทธศาสตร์ JUSTICE โดยหากคู่กรณีที่มีข้อพิพาทได้เข้าสู่กระบวนการเจรจาหาข้อยุติและประนีประนอมข้อพิพาทระหว่างกันโดยไม่ต้องนำคดีขึ้นสู่ศาลจะเป็นการลดปริมาณคดีของศาลและเป็นประโยชน์แก่ทางราชการ อันจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืนต่อไป