จ.นครราชสีมา ประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม
มิถุนายน 15, 2017 08:09 โดย opwnews
0
1015
วันนี้ (15 มิ.ย. 60) เวลา 09.30 น. ที่ห้องประชุมหลวงพ่อคูณปริสุทโธ นายวิเชียร จันทรโณทัย ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา พร้อมด้วยนายธนพล จันทรนิมิ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ร่วมประชุมคณะกรรมการศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่ม มีหัวหน้าส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นายอำเภอทั้ง 32 อำเภอในจังหวัดนครราชสีมาเข้าร่วมประชุม
จากเหตุการณ์ปริมาณฝนตกตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา พื้นที่จังหวัดนครราชสีมาโดยเฉพาะอำเภอเมืองนครราชสีมาปริมาณฝนรวม 643.7 มิลลิเมตร มากกว่าปี 2559 ปริมาณ 252.6 มิลลิเมตร และจากการคาดหมายลักษณะอากาศช่วงฤดูฝนของไทย ปีนี้ฝนจะสูงกว่าปกติ จังหวัดนครราชสีมามีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยรวม 5 อำเภอ 19 ตำบล 163 หมู่บ้าน มีพื้นที่เสี่ยงภัยดินโคลนถล่ม 6 อำเภอ 16 ตำบล 44 หมู่บ้าน และพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมในเขตอำเภอเมืองนครราชสีมาและพื้นที่สำคัญรวม 20 จุด ซึ่งพื้นที่ใดเกิดอุทกภัยให้ใช้งบฯ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้าไปช่วยเหลือโดยเร็ว หากงบฯ ไม่พอให้ร้องขอผ่านอำเภอมาทางจังหวัด พร้อมให้ทุกอำเภอตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยและดินโคลนถล่มระดับอำเภอ และศูนย์ฯ อบต. เพื่อเป็นศูนย์ประสานให้ความช่วยเหลือประชาชนได้ทันท่วงที พร้อมให้หน่วยปฏิบัติการฝนหลวงเตรียมแผนการจัดทำฝนหลวงหากเกิดกรณีฝนทิ้งช่วง โดยให้ประสานข้อมูลสถานการณ์ฝนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับการป้องกันและแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตทางหลวงให้เตรียมแผนระบายน้ำเปิดทางให้น้ำไหลผ่านพร้อมเตรียมเครื่องสูบน้ำในจุดที่เกิดน้ำท่วมขังซ้ำซาก ซึ่งหน่วยงานทหาร ศูนย์ ปภ.เขต 5 สำนักงานทรัพยากรน้ำภาค 5 องค์การบริหารส่วนจังหวัดนครราชสีมา มีเครื่องสูบน้ำและเครื่องจักรกลไว้ให้การช่วยเหลือได้ทันที และหากเส้นทางคมนาคมได้รับความเสียหายให้เร่งซ่อมแซมเส้นทางที่ชำรุดและถูกตัดขาดเพื่อให้ประชาชนใช้สัญจรได้โดยเร็ว พร้อมทั้งให้จัดยานพาหนะบริการประชาชนในพื้นที่ มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรกรณีประสบอุทกภัยให้เกษตรกรไปขึ้นทะเบียนความเสียหายไว้กับท้องถิ่น แต่ปัจจุบันยังไม่เกิดความเสียหาย
พร้อมนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา ได้สั่งให้นายอำเภอทุกอำเภอกลับไปประชุมทำความเข้าใจกับหน่วยงานในพื้นที่ พร้อมให้ลงพื้นที่เยี่ยมชาวบ้านอย่างใกล้ชิดและให้รายงานจังหวัดทราบเพื่อที่ ผู้ว่าราชการจังหวัดฯ หรือรองผู้ว่าราชการจังหวัดฯ ทราบและจะได้ลงไปเยี่ยมในพื้นที่ที่มีผลกระทบจากน้ำท่วม มากกว่า 2 วัน หากพื้นที่ใดขาดเครื่องมืออุปกรณ์ในการให้ความช่วยเหลือประชาชนให้ร้องขอมาทางจังหวัด พร้อมนี้ให้สถานีอุตุนิยมวิทยานครราชสีมารายงานสถานการณ์ปริมาณฝน 3 ครั้ง ลงในกลุ่มไลน์หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดนครราชสีมาเพื่อทราบ และจะได้หาแนวทางการป้องกันแต่เนิ่นๆ
พิสิษฐ์ เขื่อนเพ็ชรต์ / ศูนย์ข่าวนครราชสีมา
หน้าหนึ่ง
เรื่องมาใหม่