พลิงไหม้ !! เรียนรู้ วิธีปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัย “ภัยใกล้ตัวป้องกันได้ ต้องใส่ใจไม่ประมาท”

มิถุนายน 16, 2017 01:39 โดย opwnews
0
840

PNSOC600616001000302_16062017_082103

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ผู้เสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้ส่วนใหญ่เกิดจากสำลักควัน เนื่องจากไม่มีความรู้ในการอพยพหนีไฟอย่างถูกวิธี เพื่อความปลอดภัย กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยขอแนะวิธีปฏิบัติตนและอพยพออกจากอาคารที่เกิดเพลิงไหม้อย่างปลอดภัย ดังนี้

1) การปฏิบัติตนเมื่อเกิดเพลิงไหม้

– ตั้งสติ ไม่ตื่นตระหนก ประเมินสถานการณ์ในเบื้องต้น กรณีเพลิงไหม้เล็กน้อย ใช้ถังดับเพลิงควบคุมเองในเบื้องต้น โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาควบคุมดับเพลิง เพลิงไหม้รุนแรง ตะโกนบอกหรือหรือกดสัญญาณเตือนเพลิงไหม้ เพื่อแจ้งให้ผู้อื่นทราบ อพยพออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้ โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่มาควบคุมดับเพลิง

– ก่อนออกจากห้องให้ใช้มือสัมผัสผนังหรือลูกบิดประตู หากไม่ร้อน เปิดประตูออกช้าๆ อพยพไปตามเส้นทางหนีไฟที่ปลอดภัย หากมีความร้อนสูง ห้ามเปิดประตูออกไป เพราะมีเพลิงไหม้ในบริเวณใกล้เคียง ให้ใช้ผ้าหนาๆ ชุบน้ำอุดตามช่องที่ควันไฟสามารถลอยเข้ามาได้ ปิดพัดลมระบายอากาศ และเครื่องปรับอากาศ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟ โทรศัพท์แจ้งเจ้าหน้าที่และส่งสัญญาณให้ผู้อื่นทราบ

2) การอพยพหนีไฟออกจากพื้นที่เกิดเพลิงไหม้

– ใช้ผ้าชุบน้ำปิดจมูก และปาก หรือใช้ถุงพลาสติกใสขนาดใหญ่อัดอากาศบริสุทธิ์แล้วนำมาครอบศีรษะ เพื่อป้องกันการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย ทำให้หมดสติและเสียชีวิต

– หมอบคลานต่ำหรือย่อตัวอยู่ใกล้กับระดับพื้นมากที่สุด เนื่องจากอากาศบริสุทธิ์อยู่เหนือระดับพื้นไม่เกิน 1 ฟุต เพื่ออพยพไปสู่ประตูทางออกฉุกเฉินที่ใกล้ที่สุด

ใช้บันไดหนีไฟในการอพยพออกจากอาคาร เนื่องจากมีช่องระบายอากาศ จึงช่วยลดการสูดดมควันไฟเข้าสู่ร่างกาย ไม่ใช้บันไดภายในอาคารเป็นเส้นทางอพยพหนีไฟ เพราะบันไดมีลักษณะเป็นปล่อง ทำให้ควันไฟและเปลวเพลิงลอยตัวขึ้นมาปกคลุม

– ห้ามใช้ลิฟต์ในการอพยพหนีไฟ เพราะเมื่อเกิดเพลิงไหม้ไฟฟ้าจะดับ ทำให้ติดค้างภายในลิฟต์ขาดอากาศหายใจเสียชีวิตได้

3) ข้อควรรู้ในการอพยพหนีไฟ
– ไม่เข้าไปอยู่ในบริเวณที่เป็นจุดอับของอาคาร อาทิ ห้องใต้ดิน เพราะยากต่อการเข้าช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่
– ไม่หนีเข้าไปอยู่ในห้องน้ำ เพราะปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อการดับไฟ ทำให้ถูกไฟคลอกเสียชีวิตได้

– ไม่ขึ้นไปชั้นบนหรือดาดฟ้าของอาคาร เพราะไฟจะลุกลามจากชั้นล่างขึ้นสู่ชั้นบน ทำให้เสี่ยงต่อการได้รับอันตราย ยกเว้นกรณีที่ไม่สามารถอพยพหนีลงชั้นล่างได้

– กรณีไฟลุกลามติดเสื้อผ้า ให้รีบถอดเสื้อผ้าหรือใช้วิธีนอนราบกับพื้นและกลิ้งตัวไปมาให้ไฟดับ ห้ามวิ่งเด็ดขาด เพราะทำให้ไฟลุกลามรวดเร็วขึ้น

– กรณีติดอยู่ในอาคารให้โทรศัพท์แจ้งเหตุ พร้อมระบุตำแหน่งที่ติดอยู่ หรือส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่หรือผู้ที่อยู่ภายนอกอาคาร อาทิ ส่องไฟฉาย โบกผ้า เป่านกหวีด

– ห้ามกลับเข้าไปในอาคารที่เกิดเพลิงไหม้ เพราะอาจถูกไฟคลอกหรือได้รับอันตรายจากโครงสร้างอาคารที่อาจพังถล่ม

ทังนี้ การสำลักควันไฟเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตจากเหตุเพลิงไหม้มากกว่าการถูกไฟคลอก เพราะเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ควันไฟจะปกคลุมพื้นที่อย่างรวดเร็ว ทำให้ร่างกายสูดดมควันไฟเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจ ส่งผลให้เสียชีวิตก่อนถูกไฟคลอก




--!>