สคร.ที่ 9 นครราชสีมาประชุมสื่อสารแนวทางการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคปอดฝุ่นหิน หลังช่วงระยะ 10 ปี ชาวบ้านอาชีพตัดหินอำเภอสีคิ้วเสียชีวิตแล้ว 47 ราย

มิถุนายน 27, 2017 06:42 โดย opwnews
0
878

PNOHT600627001006701_27062017_113155

วันนี้ (27 มิ.ย. 60) เวลา 09.30 น. ที่โรงแรมสีมาธานี อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา นายมุรธาธีร์ รักชาติเจริญ รองผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมา เป็นประธานเปิดการประชุมเชิงปฏิบัติการสื่อสารแนวทางการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคปอดฝุ่นหิน เขตสุขภาพที่ 9 ปี 2560  เพื่อเป็นการสื่อสารแนวทางการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคปอดฝุ่นหินให้หน่วยงานอื่นได้รับทราบ นำไปใช้ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคปอดฝุ่นหิน รวมทั้งเป็นการสร้างความร่วมมือกับหน่วยงานในเครือข่ายในการขยายผลการดำเนินงานและพัฒนาการบริการต่อไปในอนาคต พร้อมกับมีการมอบโล่เชิดชูเกียรติแก่ 14 หน่วยงานเครือข่ายที่ให้ความร่วมมือในการพัฒนาการบริการป้องกันควบคุมโรคปอดฝุ่นหินในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา พร้อมกับมีการบรรยายเรื่อง แนวทางการเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรคปอดฝุ่นหิน โดยตัวแทนจากโรงพยาบาลสีคิ้ว โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และเวทีเสวนาวิชาการจากตัวแทนหลายภาคส่วน และบูธนิทรรศการให้ความรู้ โดยผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยบุคลากรด้านสาธารณสุขจากจังหวัดขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และนครราชสีมา จำนวน 100 คน
นายแพทย์ธีรวัฒน์ วลัยเสถียร ผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา กล่าวว่า โรคปอดฝุ่นหิน มักเกิดกับผู้ประกอบอาชีพตัดแต่งหิน โดยเฉพาะในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นแหล่งอุตสาหกรรมหินทรายที่สำคัญของประเทศไทย เป็นอาชีพหลักที่สร้างรายได้และสร้างเศรษฐกิจให้ชุมชน ปัจจุบันมีผู้ประกอบการอาชีพตัดแต่งหิน 1,740 คน แรงงานต่างด้าว 189 คน และมีประชาชนที่สัมผัสฝุ่นหิน 3,956 คน โดยตั้งแต่ปี 2550 อำเภอสีคิ้วพบผู้ป่วยโรคปอดฝุ่นหิน 331 คน เสียชีวิตแล้ว 47 คน โดยมีแนวโน้มพบผู้ป่วยและเสียชีวิตเพิ่มสูงขึ้นทุกปี สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 9 นครราชสีมา จึงได้พัฒนาบริการป้องกันควบคุมโรคปอดฝุ่นหินในพื้นที่อำเภอสีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ร่วมกับผู้ประกอบการอาชีพตัดแต่งหิน อสม. อปท. โรงเรียน โดยเฉพาะนวัตกรรมอุปกรณ์ลดฝุ่นติดตั้งที่เครื่องตัดหินแบบสะพาย เพื่อช่วยลดฝุ่นที่เกิดขึ้นจากการตัดแต่งหิน และการจัดบ้านปลอดฝุ่น ส่งผลให้ลดความเสี่ยงในการเกิดโรคปอดฝุ่นหินของผู้ประกอบการ รวมทั้งส่งเสริมสนับสนุนให้หน่วยบริการสาธารณสุข จัดบริการอาชีวอนามัย ได้แก่ การคัดกรองเชิงรุก พัฒนาระบบการวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ สร้างความร่วมมือในการวินิจฉัย รักษา ส่งต่อผู้ป่วย และการติดตามเยี่ยมบ้านผู้ป่วย ช่วยให้พบผู้ที่มีความเสี่ยง ผู้ที่มีอาการสงสัย ผู้ป่วยและนำเข้าสู่ระบบการวินิจฉัยและรักษาได้เร็วขึ้น ส่งผลให้ลดความรุนแรงของโรคและลดการเสียชีวิตจากโรคปอดฝุ่นหินลงได้ จนได้รับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติ ปี 2559 ประเภทรางวัลนวัตกรรมการบริการที่เป็นเลิศระดับดีเด่น เรื่อง อุปกรณ์ลดฝุ่น นวัตกรรมการป้องกันควบคุมโรคปอดฝุ่นหิน จากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ
พิสิษฐ์  เขื่อนเพ็ชรต์ / ศูนย์ข่าวนครราชสีมา
PNOHT600627001006703_27062017_113155 PNOHT600627001006702_27062017_113155 PNOHT600627001006704_27062017_113155 PNOHT600627001006706_27062017_113155



--!>