ดร.ณัจยา แก้วนุ้ย หญิงแกร่งผู้อยู่เบื้องหลังความมั่นคงทางอาหารปลอดภัยของโรงเรียนและชุมชน
ผู้หญิงวันนี้…
ดร.ณัจยา แก้วนุ้ย หญิงแกร่งผู้อยู่เบื้องหลังความมั่นคงทางอาหารปลอดภัยของโรงเรียนและชุมชน
.
พูดไปใครก็ต้องรู้จักหลายโครงการของ สสส. ที่มักจะใช้ถ้อยคำติดหู อาทิ #อร่อยได้ไร้แอลกอฮอล์ หรือเปลี่ยนลานเบียร์ เป็นลานวัฒนธรรม แต่น้อยคนจะรู้ว่า เบื้องหลังความสำเร็จของโครงการส่งเสริมพฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ดี รณรงค์ให้งดจำหน่ายสุราในเทศกาลอาหาร และการส่งเสริมความมั่นคงอาหารปลอดภัยให้กับโรงเรียนและชุมชน มักจะมีชื่อของ ดร.ณัจยา แก้วนุ้ย เป็นหนึ่งในแกนนำผู้ขับเคลื่อนและทุ่มเทอย่างจริงจังตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ
.
ผู้หญิงแกร่งแห่งแดนใต้ผู้มีน้ำเสียงกังวานใส พูดจาฉะฉาน และบุคลิกแคล่วคล่องว่องไว ที่หลายคนคุ้นเคยในรายการ ‘ฟังเพื่อนเล่า ขอข้าวเพื่อนกิน’ ผ่านเพจ โครงการส่งเสริมอาหารปลอดภัย เพื่อสุขภาพ อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์ ดร.ณัจยา เป็นนักวิชาการ นักธุรกิจ ที่ปรึกษาของสมาคมธุรกิจร้านอาหารและสปาไทย ทั้งยังเป็นฟันเฟืองสำคัญในฐานะผู้จัดการ ‘โครงการพัฒนาต้นแบบความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน’ รวมถึง ‘โครงการส่งเสริมความมั่นคงทางอาหารและอาหารปลอดภัยในภาวะวิกฤต’ ทั้งยังร่วมงานในโปรเจ็กต์อื่นๆ กับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มากว่า 19 ปี
.
“จริง ๆ ไม่เคยคิดเลยว่า วันหนึ่งจะมาทำงานเพื่อสังคม เพราะส่วนตัวสนใจการทำธุรกิจมากกว่า แต่แรงบันดาลใจที่ทำให้อยากลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลงเรื่องอาหารและความมั่นคงของอาหารปลอดภัยอย่างจริงจัง มาจากช่วงปี พ.ศ.2546 เทศกาลอาหารได้รับความนิยมอย่างมาก แน่นอนว่า มีอาหารก็ต้องมีเหล้าเบียร์เป็นของคู่กัน ซึ่งมันนำไปสู่การทะเลาะวิวาท อุบัติเหตุ และความแตกแยกในครอบครัว ดิฉันจึงมีโอกาสได้ร่วมโปรเจ็กต์กับ สสส.
.
“เพราะเราเชื่อว่า ไม่ต้องมีเหล้าขายก็กินอาหารได้อย่างมีความสุข จึงนำไปสู่แคมเปญ ‘อร่อยได้ ไร้แอลกอฮอล์’ รวมถึงจัดอบรมเรื่องสุขลักษณะที่ดีของร้านอาหาร ความสะอาดปลอดภัยของวัตถุดิบ มีการกำหนดมาตรฐานและประเมินผลการดำเนินงานทุกครั้ง
.
“ถามว่า ทำแล้วคนกินเหล้าลดลงมั้ย? มันอาจจะไม่ลดลงทันตาเห็น แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่อยากลุกขึ้นมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรม อีกสิ่งหนึ่งที่มีความสุขมากคือ การได้เห็นคนในครอบครัวนั่งล้อมวงกินข้าวด้วยกัน มันเป็นบรรยากาศอบอุ่นในครอบครัวสไตล์ไทยแท้ที่เริ่มจะจางหายไปในปัจจุบัน”
.
ดร.ณัจยา เล่าถึงจุดเริ่มต้นที่ทำให้หันเหความสนใจจากเส้นทางการทำธุรกิจ สู่การเป็น ‘มดงาน’ ผู้ขับเคลื่อนโปรเจ็กต์ด้านความมั่นคงทางอาหารปลอดภัยของ สสส. ให้เป็นรูปธรรม ทว่าทุกการเริ่มต้นย่อมมีอุปสรรคที่รออยู่เบื้องหน้า เหมือนเป็นบททดสอบความกล้าหาญและความเข้มแข็งของจิตใจ
.
“กว่าจะได้รับการยอมรับจากคนในแวดวงอาหารต้องใช้เวลาพิสูจน์อยู่หลายปี เพราะเราไม่ได้ใช้กฎหมายเข้าไปบังคับให้เขาทำตาม ตรงกันข้ามเราเน้นการรณรงค์เพื่อขอความร่วมมือจากเทศกาลอาหารต่างๆ ปีแรกเราได้รับความร่วมมือแค่ 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่เราก็ไม่ท้อนะ เรายังเดินหน้าสนับสนุนแนวคิดและโปรเจ็กต์ของเราต่อไป เพราะเรามั่นใจว่า เรากำลังทำสิ่งที่ดีเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้คน
.
“สำคัญที่สุดคือ เราต้องทำงานอย่างต่อเนื่องจริงจัง เพื่อให้คนเข้าใจและให้ความร่วมมือเหมือนทุกวันนี้ อย่างการสนับสนุนแคมเปญ ‘กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ’ ตั้งแต่ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และวิกฤติขาดแคลนอาหาร มันเป็นกำลังใจที่ดีให้เราสู้ต่อไป เพราะสิ่งที่เราทุ่มเทมาตลอดหลายปี เราทำเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีและความยั่งยืนด้านอาหารให้กับผู้คน”
.
นอกจากนี้ ดร.ณัจยา ยังเป็นคนตัวเล็กๆ ในโครงการ ‘ตลาดสีเขียว’ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยของอาหาร ทั้งในรูปแบบของผัก-ผลไม้สด สินค้าทางการเกษตร จนถึงอาหารปรุงสุก เชื่อมโยงการทำงานกับกลุ่มเกษตรกรปลอดสาร สมาคมธุรกิจร้านอาหาร และเทศบาลต่าง ๆ ทั้งยังจัดอบรมเพื่อให้ความรู้ด้านอาหารปลอดภัย
.
กระทั่งบทบาทล่าสุดในฐานะผู้จัดการ ‘โครงการพัฒนาต้นแบบความมั่นคงทางอาหารของโรงเรียนและชุมชน’ ที่เธอสะดวกใจที่จะเรียกตัวเองว่า ‘พี่เลี้ยง’ ผู้บุกเบิกและฝึกอบรมเพื่อสร้างแกนนำให้กับโรงเรียนและชุมชนต่างๆ นำร่องด้วยโรงเรียนต้นแบบใน 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา ปทุมธานี และสุพรรณบุรี
.
โครงการดังกล่าว มุ่งมั่นในการขับเคลื่อนอาหารปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหารให้กับโรงเรียนและชุมชนต่างๆ เพื่อสร้างความรอบรู้ด้านอาหาร (Food Literacy) ส่งเสริมให้เกิดตลาดสีเขียวในชุมชน ทั้งยังเชื่อมโยงแหล่งผลิตอาหารปลอดภัยในชุมชน เพื่อช่วยเหลือและพึ่งพาตัวเองในภาวะวิกฤติ รวมถึงพัฒนากลไกแกนนำพี่เลี้ยง ที่สนับสนุนการเข้าถึงอาหารของกลุ่มเปราะบางในเวลาเดียวกัน
.
“ความมั่นคงทางอาหารเป็นสิ่งสำคัญมากในปัจจุบัน อย่างการมีต้นกะเพรา ต้นพริก หรือผักสวนครัวไว้ในรั้วบ้าน ก็สามารถเด็ดมาทำเมนูรับประทานเองได้ เราทำหน้าที่ปลูกจิตสำนึกและถ่ายทอดองค์ความรู้ให้กับโรงเรียนเพื่อส่งต่อสู่ชุมชน โดยเน้นการให้ความรู้ 3 ด้านคือ
.
“หนึ่ง ลดต้นทุนการผลิต เช่น การทำปุ๋ยอินทรีย์ วิธีทำสารชีวภัณฑ์ (ผลิตภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชผลิตมาจากสิ่งมีชีวิต) สอง โภชนาการที่ดีต่อสุขภาพ และสาม การแบ่งปันหรือกระจายอาหารปลอดสาร ส่งเสริมให้เกิดการแลกเปลี่ยนวัตถุดิบอย่างการนำผักแลกปลา หรือการนำไปจำหน่ายในตลาดสีเขียว เพื่อให้เด็กนักเรียน ผู้ปกครอง ครู และผู้คนในชุมชนปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากินอาหารปลอดสารที่ดีต่อสุขภาพ ทั้งยังสร้างรายได้เล็กน้อยให้แก่ครอบครัวและช่วยลดต้นทุนให้กับผู้บริโภคในชุมชน”
.
ดร.ณัจยา ยังเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการเพื่อส่งเสริมสุขภาพของเด็กและเยาวชน เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ที่เกิดจากพฤติกรรมการกินและการดำเนินชีวิตของคนยุคใหม่ รวมถึงโครงการย่อยต่างๆ ที่เธอเข้าไปมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อน อาทิ ‘เด็กไทยแก้มใส’ (เรียนรู้การกินให้ถูกต้อง ปลอดภัย สมวัยเด็กกำลังโต) ‘เครือข่ายเด็กไทยไม่กินหวาน’ สู่การเป็นโรงเรียนอ่อนหวาน ‘โครงการ Young Food’ (เยาวชนนักปฏิวัติอาหารในครัวเรือน) และเชื่อมโยงกับโครงการบูรณาการอาหารปลอดภัย ‘Food Safety’
.
“เกือบ 20 ปีที่ทำงานด้านนี้มา ส่งผลให้เรามีสุขภาพจิตใจที่ดี ร่างกายแข็งแรง ลูกๆ ไม่มีใครสูบบุหรี่และดื่มเหล้าเลย เพราะเขาซึมซับการทำงานและได้แรงบันดาลใจที่ดีจากเรามาตลอด โดยเฉพาะการรณรงค์เรื่องเหล้าที่ช่วยลดการทะเลาะวิวาทและอุบัติเหตุได้เห็นผลจริง เทศกาลอาหารไม่มีคนตีกันหน้าเวที ไม่มีคนเมาเหล้าแล้วเกิดอุบัติเหตุระหว่างทางกลับบ้าน ทำให้เรารู้สึกภูมิใจในทุกโปรเจ็กต์ที่ทำ
.
“และมีความสุขทุกครั้งเวลาเห็นคนมีสุขภาพดีขึ้นจากโครงการที่รณรงค์ โดยเฉพาะการสร้างความมั่นคงด้านอาหารที่สร้างประโยชน์ทั้งองค์รวม และสามารถเข้าถึงคนได้ทุกกลุ่ม ตั้งแต่โรงเรียน ชุมชน เกษตรกร ร้านอาหาร เทศบาลต่างๆ และในอนาคตอาจสร้างการเปลี่ยนแปลงในระดับชาติได้เช่นกัน”
.
ภายใต้ภาพลักษณ์ของความเป็นนักธุรกิจหญิง นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคม ดร.ณัจยาเป็นแกนนำสำคัญที่อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของหลายโครงการ ทั้งยังแบ่งเวลาให้กับครอบครัว เพื่อน และค้นพบความสุขเรียบง่ายด้วยการอ่านหนังสือสักเล่มก่อนนอน เธอทำทั้งหมดนั้นด้วยใจที่เข้มแข็งเกินกว่าที่หลายคนจะคาดคิด ตั้งแต่ลงพื้นที่ลุยงาน ถ่ายทอดองค์ความรู้ และประสานงานกับผู้คนหลากหลายกลุ่มอย่างไม่รู้เหนื่อย
.
ราวกับเธอกำลังมีความสุขกับการต่อจิ๊กซอว์ทีละชิ้นๆ ด้วยเชื่อว่า เมื่อโครงการทั้งหมดนั้นเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน มันจะกลายเป็นภาพใหญ่ที่สวยงาม และสร้างความมั่นคงทางอาหารปลอดภัยได้อย่างยั่งยืนในประเทศไทย
ขอบคุณเรื่อง/ภาพ #กินดีmeสุข #แผนอาหารเพื่อสุขภาวะ #สสส #โครงการส่งเสริมอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพอร่อยได้ไร้แอลกอฮอล์