อบจ.ปทุมธานี เตรียมเยาวชนสู่ยุคประเทศไทย 4.0
โรงเรียนในสังกัด อบจ.ปทุมธานี เตรียมเยาวชนสู่ยุคประเทศไทย 4.0 ด้วยการอบรมหลักสูตร STEM ผ่านนวัตกรรมหุ่นยนต์
นายสาคร อำภิน รองนายก อบจ. รักษาราชการแทนนายก อบจ.ปทุมธานี ประธานเปิดโครงการพัฒนาความเป็นเลิศด้านวิชาการผ่านการเรียนรู้แบบ STEM ด้วยนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์ (Robot) ณ โรงเรียนวัดป่างิ้ว ซึ่งโรงเรียนวัดป่างิ้ว ได้ตระหนักถึงความสำคัญดังกล่าวในการพัฒนาศักยภาพของครูและนักเรียน ในการจัดการเรียนการสอนทางด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ วิศวกรรมศาสตร์ และเทคโนโลยี หรือการเรียนการสอนสะเต็ม (STEM Education) จึงได้จัดทำโครงการพัฒนาความเป็นเลิศด้านวิชาการผ่านการเรียนรู้แบบ STEM ด้วยนวัตกรรมด้านหุ่นยนต์ขึ้น โดยมุ่งหวังให้เกิดประโยชน์ในการสร้างครูและนักเรียนต้นแบบ STEM Education ในโรงเรียน และเพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และเทคโนโลยีของโรงเรียนในสังกัดให้มีคุณภาพสูงขึ้น เป็นโครงการส่งเสริมทักษะ และส่งเสริมความเป็นเลิศของนักเรียนด้านการคิดค้นหรือใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยี ในการสร้างชิ้นงาน ที่สอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลในยุคประเทศไทย 4.0 เพื่อพัฒนาประเทศให้มีความมั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน โดยถือเป็นการเปิดการเรียนรู้ด้านหุ่นยนต์อย่างจริงจังของโรงเรียนในสังกัดองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
นายชูชาติ เที่ยงธรรม ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดป่างิ้วกล่าวว่า หลักสูตรนักออกแบบนวัตกรรม ภายใต้การเรียนรู้แบบ STEM Education เป็นหลักสูตรที่ถูกออกแบบขึ้น เพื่อใช้สอนในระดับชั้นประถมศึกษา-มัธยมศึกษา เน้นการเรียนแบบบูรณาการใน 4 สาขาวิชาหลัก ได้แก่ วิชาวิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ โดยใช้สื่อการสอนในรูปของการออกแบบและประดิษฐ์หุ่นยนต์หลากหลายรูปแบบ เพื่อนำมาสอนด้าน STEM โดยเน้นให้เด็กทุกคนได้ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง
นักเรียนจะได้เรียนรู้ทั้งในภาคทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับทางด้านวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีอย่างสนุกสนาน พร้อมไปกับการได้ลงมือประดิษฐ์หุ่นยนต์ของตนเอง เพื่อฝึกพื้นฐานด้านวิศวกรรม ตลอดจนการฝึกคิดเพื่อการแก้ไขปัญหาแบบครบวงจร ตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผน การออกแบบ ไปจนถึงขั้นประกอบและทดลอง ปรับปรุงแก้ไข จนเป็นนวัตกรรมที่นักเรียนสร้างขึ้นด้วยตนเองทั้งหมด
นักเรียนจะได้ฝึกทักษะต่างๆ มากมาย ได้ทั้งความรู้ใหม่ๆ และการนำองค์ความรู้เดิมในวิชาหลักในห้องเรียนมาประยุกต์ใช้ในเชิงปฏิบัติมากขึ้น รู้จักที่จะศึกษาหาข้อมูล วิเคราะห์ และแก้ไขโจทย์ปัญหาที่ซับซ้อนได้เองมากขึ้น และการเรียนรู้ในหลักสูตรนี้ยังสอดคล้องตรงตามตัวชี้วัดและสาระการเรียนรู้ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในสาระและมาตรฐานการเรียนรู้ เรื่องการออกแบบและเทคโนโลยี
ซึ่งท้ายที่สุดจะทำให้เด็กเกิดความภาคภูมิใจในผลงานที่ตัวเองคิด และพร้อมที่จะเรียนรู้เพื่อต่อยอดความรู้ของตัวเองต่อไปตามคำแนะนำของครู จนทำให้เด็กเกิดความตื่นตัวและพร้อมจะเรียนรู้มากขึ้น ทั้งในห้องเรียนปกติและนอกห้องเรียนมากขึ้น สร้างความคิดที่อยากจะรู้เพิ่ม ตั้งข้อสังเกต และค้นคว้าหาคำตอบได้ด้วยตนเอง จนในที่สุดเกิดทัศนคติต่อการเรียนรู้ที่ดีติดตัวนักเรียนตลอดไป
ในการดำเนินงานครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการประกอบด้วย นักเรียนโรงเรียนวัดป่างิ้วระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3-6 จำนวน 100 คน นักเรียนชั้น ม.1 โรงเรียนสามโคก จำนวน 10 คน ครูและบุคลากร จำนวน 40 คน รวมทั้งสิ้น 150 คน ซึ่งได้รับความอนุเคราะห์จากทีมวิทยากรที่มีผลงานและความชำนาญระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ที่พึ่งนำทีมหุ่นยนต์ตัวแทนเยาวชนไทย ไปคว้า 22 ถ้วยรางวัลจากการแข่งขันหุ่นยนต์นานาชาติ รายการ “Liaoning International Robot Olympiad 2017, China” ที่โรงเรียนมัธยมอัลซาน (Anshan No.1 High School) เมืองเหลียวหนิง ประเทศจีน เมื่อ 13 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา เช่น นายพีระชัย อากาศ อดีตเลขาศูนย์หุ่นยนต์ของประเทศ กรรมการการตัดสินหุ่นยนต์ระดับนานาชาติ นายจิรพิพัฒน์ ธัญพงษ์ภัทร ผู้อำนวยการสถาบันวิศวกรรมหุ่นยนต์ โรบอทแอนด์ซายด์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ นายปาล มานวิสุทธิ์ นักวิชาการอิสระ นายวรณัฐ หมีทอง ครูโรงเรียนหนองบัว จ.นครสวรรค์ สพม. 42 เป็นต้น
โดยตั้งเป้านักเรียนสามารถสร้างหุ่นยนต์หกขาบังคับมือ และหุ่นยนต์เป็ดว่ายน้ำ ปั่นพลังงานไฟฟ้าด้วยมือ และมีการจัดประกวดแข่งขันหลังการอบรม เพื่อคัดเลือกตัวแทนนักเรียน เตรียมความพร้อมในการแข่งขันระดับประเทศและระดับนานาชาติต่อไป