ผู้การตำรวจสุรินทร์ร่วมพิธีแต่งงานแบบกลุ่มชาติพันธุ์กูยโบราณของจังหวัดสุรินทร์ หรือ”พิธีซัตเต”หวานรับวาเลนไทน์คู่บ่าว สาวกว่า 30 คู่ร่วมจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง หนึ่งเดียวในโลกที่จังหวัดสุรินทร์ ถิ่นเมืองช้าง
วันนี้(14 ก.พ.67) หวานรับวันวาเลนไทน์ จังหวัดสุรินทร์ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดสุรินทร์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจัดกิจกรรมจดทะเบียนสมรสบนหลังช้าง ประจำปี 2567 โดยมีนายพิจิตร บุญทัน ผู้ว่าราชกาลจังหวัดสุรินทร์ เป็นประธานเปิดงาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม โดยนำอัตลักษณ์การแต่งงานแบบกลุ่มชาติพันธุ์กูยโบราณของจังหวัดสุรินทร์ หรือเรียกว่า”พิธีซัตเต”มาเป็นสิ่งจูงใจเพื่อตึงดูดให้นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนจังหวัดสุรินทร์ กระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดให้คึกคัก พร้อมกันนี้ พล.ต.ต.สุคนธ์ ศรีอรุณ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดสุรินทร์ ร่วมในพิธีด้วย
โดยมีขบวนแห่ช้างคู่บ่าว-สาว เริ่มขบวนจากหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองสุรินทร์ หรือศาลากลางจังหวัดสุรินทร์หลังเก่า ผ่านถนนสายหลักใจกลางเมืองสุรินทร์ เพื่อไปยังสวนเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เฉลิมพระชนมพรรษา 80 พรรษา หรือ สวนใหม่ เพื่อร่วมพิธีซัตเต ซึ่งถือได้ว่าเป็นประเพณี การแต่งงานแบบพื้นบ้านของชาวกูย คำว่า “ซัตเต” เป็นภาษาส่วย แปลว่า “ผูกแขน” หรืออาจจะเรียกตามภาษาเขมรถิ่นไทยในแถบสุรินทร์ว่า “ฮาวปลึงจองได” ก็ได้ หมายถึง การเรียกขวัญ ผูกข้อผูกแขน หรือ ผูกข้อมือ ตามประเพณีอีสานทั้งอีสานเหนือ หรืออีสานใต้
การจัดพิธีบายศรีสู่ขวัญเป็นการแสดงความชื่นชมยินดีให้กับเจ้าของขวัญ ให้มีความสุข อายุยืนยาว มีพิธีการสู่ขวัญ หรือสูตรขวัญ โดยพ่อหมอหรือพราหมณ์เพื่อความเป็นสิริมงคล ซึ่งการสวดนี้ก็จะใช้ภาษาท้องถิ่นแตกต่างไป ในจังหวัดทางอีสานใต้ก็จะใช้ภาษาเขมร เมื่อเสร็จสิ้นการสวดแล้วก็จะมีการผูกข้อมือโดยพราหมณ์ และญาติผู้ใหญ่ เป็นสัญลักษณ์ของการรับขวัญและเป็นสิริมงคลสืบไป จากนั้นจะมีพิธีเลี้ยงอาหารช้าง เพิ่มความเป็นสิริมงคล และร่วมบันทึกภาพประวัติศาสตร์ และที่สำคัญคือพิธีจดทะเบียนสมรสบนหลังช้างที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก หนึ่งเดียวในโลก
โดยวันวาเลนไทน์ในปี 2567 นี้มีคู่บ่าว-สาว ทั้งชาวไทยสมรสกับไทย ไทยสมรสกับชาวต่างชาติ และชาวต่างชาติสมรสกับชาวต่างชาติด้วยกัน รวมทั้งสิ้น 30 คู่ และช้างเข้าร่วมจำนวน 30 เชือก และปีนี้มีคู้สมรสที่เป็นช้างเข้าร่วมจดทะเบียนกันด้วยจำนวนหนึ่งคู่ ได้แก่ช้าง พลายหนิงหน่อง สมรสกับ พังแวนด้า ซึ่งเป็นช้างจากศูนย์คชศึกษาจังหวัดสุรินทร์ อีกทั้งปีนี้นับเป็นปีที่ 2 ที่มีการจัดขบวนพาเหรดคู่สมรสในเมืองสุรินทร์ เพราะปีผ่านๆ มาจะจัดอยู่ที่หมู่บ้านช้าง อำเภอท่าตูม จังหวัดสุรินทร์