ปทุมธานี “พัชรวาท” ตรวจฝุ่น PM 2.5 ภาคอุตสาหกรรม-เกษตรกรรม ปทุมธานี ชื่นชมผู้ว่าฯ จัดการปัญหาแบบเอาอยู่ ยกสวนอุตสาหกรรมบางกะดี ต้นแบบจัดการสิ่งแวดล้อม ขอบคุณชาวนาตื่นตัวลดการเผา
ปทุมธานี “พัชรวาท” ตรวจฝุ่น PM 2.5 ภาคอุตสาหกรรม-เกษตรกรรม ปทุมธานี ชื่นชมผู้ว่าฯ จัดการปัญหาแบบเอาอยู่ ยกสวนอุตสาหกรรมบางกะดี ต้นแบบจัดการสิ่งแวดล้อม ขอบคุณชาวนาตื่นตัวลดการเผา
วันที่ 30 มี.ค.67 เวลา 09.00 น. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมด้วย ร.อ.รชฏ พิสิษฐบรรณกร ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวง นายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงฯ น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ที่จังหวัดปทุมธานี โดยเยี่ยมชมการดำเนินงานของโครงการสวนอุตสาหกรรมบางกะดี โรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ด ของบริษัท วีอาร์พี ดีเวลลอปเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด และแปลงนาสาธิตการทำนาปลอดการเผา ในพื้นที่อำเภอสามโคกของจังหวัดปทุมธานี โดยมีนายภาสกร บุญญลักษม์ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร ประธานกรรมการผู้จัดการ บริษัทสวนอุตสาหกรรมบางกะดี จำกัด พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง นายกองค์การบริหารจังหวัดปทุมธานี หัวหน้าส่วนราชการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของจังหวัดปทุมธานีร่วมให้การต้อนรับ
โอกาสนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดปทุมธานี ได้บรรยายสรุปสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 ของจังหวัดปทุมธานี ซึ่งโดยเฉลี่ยทั่วไปมีจำนวนวันที่เกินค่ามาตรฐานจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับภาคเหนือ ส่วนสาเหตุมาจากภาคการเกษตร ภาคการขนส่งและคมนาคม และภาคโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งจังหวัดมีการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาในทุกด้าน รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจในเชิงรุก และผลกระทบกับประชาชนจากข้อมูลด้านสุขภาพก็มีปริมาณน้อยมาก
ด้าน พล.ต.อ.พัชรวาท กล่าวว่า ชื่นชมผู้ว่าฯ ปทุมธานี ที่มีการบริหารจัดการปัญหาปัญหาฝุ่น PM 2.5 ได้ดี โดยที่ปทุมธานีมีพื้นที่การทำนาถึง 67 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่การเกษตรทั้งหมดในจังหวัด อีกทั้งมีโรงงานอุตสาหกรรมกว่า 3,400 แห่ง แต่ยังสามารถบริหารจัดการคุณภาพอากาศให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยเฉพาะสวนอุตสาหกรรมที่มี 38 โรงงาน แต่สามารถบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างดีเยี่ยม มีระบบบำบัดอากาศทำให้ไม่ส่งผลกระทบด้านฝุ่น สามารถอยู่ร่วมกับชุมชน และยังเป็นต้นแบบโครงการธรรมาภิบาลสิ่งแวดล้อม ส่วนการดูงานโรงงานผลิตเชื้อเพลิงชีวมวลอัดเม็ดที่กรมควบคุมมลพิษ ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือกับ บริษัท วีอาร์พี ดีเวลลอปเม้นท์ โฮลดิ้ง จำกัด สนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันและลดการเผาเศษวัสดุเหลือใช้ ทางการเกษตรเพื่อลดปัญหาฝุ่นPM 2.5 โดยนำเศษวัสดุการเกษตร ได้แก่ ฟางข้าว ใบอ้อย ไม้ไผ่ต้นและซังข้าวโพด เปลือก มะพร้าว และ เศษต้นไม้อื่นๆ มาอัดเม็ด ทำให้สามารถลดปริมาณฝุ่นและส่งขายให้กับโรงไฟฟ้าแม่เมาะ ส่วนแปลงนาปลอดการเผานับเป็นความร่วมมือที่ดีจากชาวนาปทุมธานี เพราะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดปริมาณฝุ่น PM 2.5 ให้กับกรุงเทพฯ และปริมณฑล
สหรัฐ แก้วตา หน ข่าว ปทุมธานี รายงาน