คณบดีคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต เผย สธ. ระบุ “วิศวกรชีวการแพทย์” จำเป็นอย่างยิ่งต่อ รพ.ภาครัฐ ในยุคประเทศไทย 4.0

ตุลาคม 19, 2017 07:54 โดย opwnews
0
1713

คณบดีคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เผยกระทรวงสาธารณสุขในฐานะผู้กำหนดนโยบาย ผู้ใช้บัณฑิต และผู้ผลิตบัณฑิต มีมติเอกฉันท์ “วิศวกรชีวการแพทย์” จำเป็นอย่างยิ่งต่อโรงพยาบาลภาครัฐ ในยุคประเทศไทย 4.0 รวมทั้งตอบสนองต่อนโยบายปฏิรูประบบราชการของภาครัฐ

รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น

รองศาสตราจารย์นันทชัย ทองแป้น คณบดีคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ในฐานะอุปนายกสมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย และคณะกรรมการบริหารสมาคมอุปกรณ์การแพทย์ไทย เปิดเผยว่า  นายแพทย์ศุภชัย คุณารัตนพฤกษ์ รองอธิการบดีฝ่ายการแพทย์และวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นประธานในพิธีเปิดงาน สัมมนาเชิงปฏิบัติการเรื่อง “ตำแหน่งวิศวกรชีวการแพทย์ในโรงพยาบาลภาครัฐภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0” ณ มหาวิทยาลัยรังสิตจัด ที่จัดโดยคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต ร่วมกับ สมาคมวิศวกรรมชีวการแพทย์ไทย สมาคมอุปกรณ์การแพทย์ไทย และสมาคมอุตสาหกรรมการแพทย์ไทย ภาควิชาวิศวกรรมชีวการแพทย์ จากทุกสถาบันของประเทศไทย ชมรมนิสิตนักศึกษาวิศวกรรมชีวการแพทย์แห่งประเทศไทย และสมาคมศิษย์เก่า คณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยผู้เข้าร่วมสัมมนาประกอบด้วยผู้กำหนดนโยบายจากกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข นายสมศักดิ์ เจตสุรกานต์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาระบบจำแนกตำแหน่งและค่าตอบแทน สำนักงานข้าราชการพลเรือน ผู้ใช้บัณฑิตประกอบด้วย ผู้แทนอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลจากโรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป และโรงพยาบาลชุมชน จากทั่วประเทศ เข้าร่วมสัมมนา โดยมีผู้เข้าร่วมสัมมนาทั้งสิ้นประมาณ 400 คน

DSC_0016 DSC_0109

“สำหรับการสัมมนาครั้งนี้มีเนื้อหาโดยสรุปคือ เนื่องจากสืบเนื่องจากโลกในศตวรรษที่ 21 ประกอบกับภายใต้ยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 โดยเฉพาะนโยบายการมุ่งให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ของโลก มุ่งเป็นTrading & Service Nation รวมทั้งการที่อุตสาหกรรมการแพทย์และสุขภาพถือว่าเป็น New S-Curve  ที่ต้องได้รับการสนับสนุนอย่างจริงจัง ในส่วนของสังคมไทยที่ได้ก้าวไปสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว โรคเรื้อรังที่เพิ่มขึ้น ความใส่ใจในการดูแลสุขภาพตนเองในเชิงการป้องกันของประชาชนเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งค่ารักษาพยาบาลที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้โรงพยาบาลในทุกระดับจำเป็นต้องปรับปรุงการให้บริการ ทั้งเชิงตั้งรับแบบดั้งเดิมและภารกิจในเชิงรุกคือการให้บริการดูแลสุขภาพด้วยตนเองที่บ้าน หรือชุมชน โดยการใช้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วย ซึ่งถือว่าเป็นการดูแลสุขภาพที่ต้นทุนต่ำ โดยที่ผู้ป่วยที่ไม่ต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทาง บุคลากรทางการแพทย์สามารถดูแลผู้ป่วยได้ใกล้ชิดมากขึ้นด้วยเทคโนโลยีทางการแพทย์รวมกับเทคโนโลยีด้านการสื่อสาร ส่งผลทำให้ประชาชนมีการปรับพฤติกรรมโดยการหันมาเอาใจใส่ดูแลสุขภาพมากขึ้น

ภารกิจดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูประบบราชการของภาครัฐที่เน้นในด้านการทำให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชน มีผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐ ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น และการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์ภารกิจ ทำให้เปรียบเสมือนแรงผลักดันที่สำคัญที่ทำให้โรงพยาบาลในทุกระดับ จำเป็นต้องมี “วิศวกรชีวการแพทย์” ที่จบการศึกษาโดยตรง เพื่อทำหน้าที่ในด้านดังกล่าว ที่ไม่สามารถใช้บุคลากรด้านอื่นๆ แบบเดิมได้อีกต่อไป เนื่องจากสามารถปฏิบัติงานได้ทั้งในส่วนของภาระงานแบบเดิมและภาระกิจแบบใหม่ที่ต้องตอบสนองความต้องการของโรงพยาบาลคือ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับอุปกรณ์ เครื่องมือและเทคโนโลยีทางการแพทย์ โดยการพัฒนาระบบ โทรเวชกรรม (Telemedicine) เพื่อใช้สำหรับการดูแลรักษาสุขภาพทางไกล ในงาน Homecare หรือ Home Monitoring นอกจากนั้นวิศวกรชีวการแพทย์ยังสามารถดูแลบริหารจัดการงานทางด้าน Medical Robotic งานวิศวกรรมฟื้นฟูและอวัยวะเทียม งานวัสดุทางการแพทย์ เป็นต้น ได้เป็นอย่างดี ซึ่งในปัจจุบันบุคลากรทางด้านวิศวกรรมชีวการแพทย์ดังกล่าว มีมหาวิทยาลัยทั้งของรัฐและเอกชน สามารถผลิตบัณฑิตออกมารับใช้สังคมได้ปีละประมาณ 250 คน” คณบดีคณะวิศวกรรมชีวการแพทย์ ม.รังสิต กล่าวเพิ่มเติม




--!>