เล็งชง ครม.ออก กม.คุม “ความเค็ม” อาหารสำเร็จรูป ห้ามเกิน 20% คาดออกได้ 2-3 ปี
|
|
สธ. เตรียมชง ครม. ออก กม. คุมปริมาณ “เกลือ – โซเดียม” ในอาหารสำเร็จรูป หวังลดการกินเค็ม ป้องกันโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคไตวาย นำร่องกลุ่มอาหารกระป๋อง ขนมขบเคี้ยว เค็มได้ไม่เกิน 20% ฝ่าฝืนมีโทษ ทั้งจำ ทั้งปรับ คาดออกได้ใน 2 – 3 ปี แนะขับเคลื่อนลดเค็มใน 3 กลุ่ม
วันนี้ (4 เม.ย.) ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี นพ.อัษฎางค์ รวยอาจิณ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวในการแถลงข่าว “รามาธิบดีกับการผลักดันวาระแห่งชาติ : เรื่องการลดการบริโภคเกลือและโซเดียม” ว่า การลดการบริโภคเกลือ หรือ โซเดียม เพื่อลดการเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรังนั้น ถือเป็นวาระแห่งชาติ ซึ่ง สธ. ดำเนินการลำพังคงไม่เพียงพอ จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงพาณิชย์ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในการกำกับอาหาร ร้านจำหน่ายอาหารให้ผสมเกลือและโซเดียมไม่ให้เกินเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งขณะนี้ สธ. โดยสำนักควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง กำลังออกกฎหมาย โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ. ควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เพื่อควบคุมอาหารสำเร็จรูปให้มีปริมาณเกลือและโซเดียมไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนด โดยนำร่องในกลุ่มอาหารกระป๋อง และขนมขบเคี้ยวให้มีปริมาณเกลือโซเดียมไม่เกิน 20% หากฝ่าฝืนมีโทษทั้งจำและปรับ ขึ้นอยู่กับระดับความเค็ม ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมเสนอให้ ครม. พิจารณา คาดสามารถออกได้ใน 2 – 3 ปีนี้
นพ.สุรศักดิ์ กันชูเวสศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี ในฐานะประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็ม กล่าวว่า ปัจจุบันคนไทยบริโภคเกลือกันมากกว่าปริมาณที่กำหนด 2 เท่า ทำให้เป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังตามมา โดยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 11 ล้านคน ผู้ป่วยโรคไตรายใหม่เพิ่มขึ้น 15% ต่อปี ค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มนี้รวมกันทั้ง 3 กองทุนสุขภาพมากกว่า 5 พันล้านบาท เมื่อรวมกับค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคหัวใจ อัมพาต นอนติดเตียงรวมแล้วไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ ผู้มีปัญหาเริ่มแรกจะมีความดันโลหิตสูง จากนั้นการทำงานของไตจะมีปัญหา คือ เริ่มบวม ไข่ขาวในปัสสาวะรั่ว ส่วนใหญ่จะพบว่าไตมีปัญหาการทำงานไปแล้วกว่า 70% โดยคนที่มีปัญหาพบว่าส่วนใหญ่กินเค็มมาตลอดชีวิต พบผู้ป่วยอายุน้อยสุดที่มาฟอกเลือดที่โรงพยาบาลรามาฯ อายุเพียง 27 ปี จึงต้องร่วมมือกันในการลดการบริโภคเค็มลง
“อย่างส้มตำที่คนไทยชอบรับประทานนั้นเค็มมาก ทั้งน้ำปลา น้ำปลาร้า ปูดอง ต่างก็ให้ความเค็มมาก ถ้ากินเส้น และส่วนประกอบอื่น ๆ ก็จะได้รับความเค็มประมาณ 20% แต่ถ้าเอาน้ำส้มตำมาคลุกข้าวกินจะได้รับความเค็ม 100% ดังนั้น เวลาไปสั่งส้มตำหรือแม้แต่อาหารอื่น ๆ ขอให้สั่งติดปากเลยว่าไม่เค็ม ไม่ใส่ผงชูรส ทั้งนี้ วิธีสังเกตว่าตนเองรับประทานเค็มหรือไม่ คือ ดื่มน้ำบ่อย ตัวบวม ความดันเพิ่ม เป็นต้น ส่วนของโรงพยาบาลรามาฯ ดำเนินการลดเค็มมาตั้งแต่ปี 2558 โดยให้ความรู้บุคลากร และเอาเกลือ น้ำปลาออกจากชั้นเครื่องปรุง” นพ.สุรศักดิ์ กล่าว
นพ.วิวัฒน์ โรจนพิทยากร ผอ.ศูนย์นโยบายและการจัดการสุขภาพ กล่าวว่า มี 3 กลุ่มที่ต้องขับเคลื่อนในการลดเค็ม คือ 1. แม่บ้าน พ่อบ้าน ที่ทำกับข้าวที่บ้าน 2. ร้านอาหารต่าง ๆ และ 3. อุตสาหกรรมอาหาร ต้องควบคุมการผลิตอาหารที่มีปริมาณเกลือ โซเดียมต่ำ ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ประชาชนรู้สึกแตกต่าง คือ ค่อย ๆ ลดความเค็มลง เช่น หากเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาจจะลดเค็มลงในปีแรก 10% เมื่อรับประทานจะไม่รู้สึกแตกต่าง พอลิ้นปรับการรับรสแล้วปีต่อมาก็ลดลงอีก 10% เป็นต้น หรือการปรุงอาหารหากเคยใส่เกลือลงไป 1 ช้อน ก็ค่อย ๆ ลดลงทีละนิด เป็นต้น