ศาลแรงงานภาค3 พิพากษาคดีแรงงานเน้นไกล่เกลี่ยและระงับข้อพิพาทเป็นหลัก
รายงานพิเศษ
โดยพิสิษฐ์ เขื่อนเพ็ชรต์
ศาลแรงงานภาค3 เป็นศาลชำนัญพิเศษ เพื่อพิจารณาพิพากษาคดีแรงงาน ซึ่งมีความแตกต่างจากอรรถคดีทั่วไป ซึ่งการดำเนินกระบวนพิจารณาคดีในศาลแรงงานจะใช้วิธีไกล่เกลี่ยและการระงับข้อพิพาทเป็นหลัก หากคู่กรณี (นายจ้าง-ลูกจ้าง) ไม่สามารถตกลงกันได้ ศาลก็จะพิจารณาตัดสินชี้ขาดตามบัญญัติแห่งกฎหมาย โดยคำนึงถึงความเป็นธรรม และความสงบเรียบร้อย
ปัจจุบันศาลแรงงานภาค 3 ตั้งอยู่ที่ ชั้น 4 อาคารศาลแขวงนครราชสีมา ถนนราชนิกูล อำเภอเมือง จังหวัดนครราชสีมา มีเขตอำนาจครอบคลุมพื้นที่จังหวัดนครราชสีมา ,ชัยภูมิ ,บุรีรัมย์ ,ยโสธร ,ศรีสะเกษ ,สุรินทร์ ,อุบลราชธานีและจังหวัดอำนาจเจริญ โดยเปิดทำการตั้งแต่วันที่ 3 ตุลาคม 2548 เป็นต้นมา และมีการบริหารการทำงานของศาลแรงงานภาค 3 ประกอบด้วย ผู้บริหาร/ผู้พิพากษา ,ข้าราชการศาลยุติธรรม/บุคลากร ,ผู้พิพากษาสมทบและผู้ประนอม
นายสมชาย ภัทรานนท์อุทัย ประธานผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานภาค 3 เปิดเผยว่า ผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงาน ประกอบด้วยผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง โดยบทบาทและอำนาจหน้าที่ของผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานที่จะต้องทำหน้าที่ตามกฎหมาย เช่น การนั่งพิจารณาคดี การพิพากษาคดี องค์คณะพิจารณาพิพากษาคดีแรงงานมี 3 ฝ่าย ประกอบด้วย ผู้พิพากษา ผู้พิพากษาสมทบฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายลูกจ้าง ฝ่ายละเท่า ๆ กัน ทำหน้าที่พิจารณาชี้ขาดตัดสินคดีแรงงาน องค์คณะผู้พิพากษาทั้งสามท่านต่างมีเสียงในการลงความเห็นในคดีท่านละหนึ่งเสียงเท่ากัน ควรใช้ดุลยพินิจในการตัดสินคดีโดยสุจริตใจ ปราศจากอคติทั้งปวง เพื่อความถูกต้องเป็นไปตามตัวบทกฎหมาย ให้ความเป็นธรรม และในบางกรณียังสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างลูกจ้างเอาไว้ได้
ประธานผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานภาค 3 กล่าวว่า บทบาทและหน้าที่ของประธานผู้พิพากษาสมทบ คือเป็นผู้บริหารสูงสุดของคณะกรรมการผู้พิพากษาสมทบ ที่ได้รับการเลือกตั้งจากคณะผู้พิพากษาสมทบ โดยความเห็นชอบจากผู้บริหารศาล ทำหน้าที่ประสานงาน ติดต่อ และรับนโยบาย จากอธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงาน เพื่อนำไปปฏิบัติ รวบรวม เสนอผลงานต่ออธิบดี ทั้งเป็นผู้นำหรือผู้แทนผู้พิพากษาสมทบ ในการดำเนินงานต่าง ๆ รักษาวินัยของผู้พิพากษาสมทบ ให้ความร่วมมือกับศาล ทำให้เกิดความสามัคคีในหมู่ผู้พิพากษาสมทบด้วยกัน ที่สำคัญต้องมีความเสียสละและอุทิศตนในการปฏิบัติหน้าที่ให้มีประสิทธิภาพเป็นที่ยอมรับของสังคม โดยปฏิบัติตนตามครรลองครองธรรม ตลอดจนส่งเสริมการสร้างความเป็นธรรมและความสงบสุขให้แก่ประชาชน และสังคมแรงงานด้วยดี
นายสมชาย ภัทรานนท์อุทัย ประธานผู้พิพากษาสมทบในศาลแรงงานภาค 3 ได้กล่าวถึงวิธีที่นายจ้างหรือลูกจ้างจะไม่ต้องมาขึ้นศาลแรงงานเพราะถูกฟ้องร้องคือ การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ด้านกฎหมายแรงงานให้กับนายจ้างและลูกจ้าง ในด้านข้อมูลข่าวสารและปรึกษาหารือร่วมกันให้มากขึ้น, การสร้างความเข้าใจอันดีต่อกันเพื่อการอยู่ร่วมกันต่อไป สิ่งที่สำคัญที่สุดคือความเมตตา นายจ้างมีฐานะทางเศรษฐกิจและมีอำนาจต่อรองที่เหนือกว่าลูกจ้าง นายจ้างควรมีเมตตาต่อลูกจ้าง เอาใจใส่ เมตตา ช่วยเหลือ และให้โอกาสในกรณีที่ลูกจ้างทำผิดไม่ร้ายแรง ส่วนลูกจ้างต้องทำงานอย่างเต็มกำลังสติปัญญาความสามารถ หากนายจ้างลูกจ้างปฏิบัติให้ถูกต้องตามกฎหมายแล้ว ก็จะหลีกเลี่ยงไม่มีคดีแรงงานเกิดขึ้นได้