โรงไฟฟ้าลำตะคองพร้อมเป็นแบตเตอรี่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ย้ำสูบน้ำผลิตไฟฟ้าไม่กระทบเขื่อนลำตะคอง

มกราคม 21, 2020 04:26 โดย opwnews
0
922

Capture

นายฉัตรชัย ภูกาบเพชร หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา เปิดเผยถึงช่วงที่กำลังจะเข้าสู่ฤดูแล้งและมีหลายคนกังวลว่าการสูบน้ำขึ้นไปสำหรับผลิตไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา จะทำให้น้ำในเขื่อนลำตะคองเหลือน้อยนั้น เรื่องดังกล่าวขอให้ประชาชนทุกท่านอย่าได้เป็นกังวล หรือเชื่อข่าวลือใด ๆ เพราะโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ คือ การผลิตไฟฟ้าซึ่งอาศัยหลักการหมุนเวียนใช้น้ำจำนวนที่แน่นอนจำนวนหนึ่ง โดยวิธีสูบน้ำจากที่ต่ำขึ้นไปเก็บไว้ในอ่างเก็บน้ำที่อยู่สูงกว่า แล้วปล่อยน้ำจำนวนนั้นลงมาผลิตไฟฟ้า หมุนเวียนอยู่เช่นนี้โดยไม่มีการสูญเสียน้ำจำนวนดังกล่าวไปแต่อย่างใด

1000877

 

โดยทั่วไปความต้องการใช้ไฟฟ้าตลอดวันไม่คงที่ โดยเฉพาะช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (Peak Load) มีสามช่วงเวลา คือระหว่างเวลา 10.00 ถึง 12.00 น. , 13.00 ถึง 16.00 น. , 18.00 ถึง 21.00 น. และช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าลดลง (Light Load) คือ ระหว่างเวลา 24.00 ถึง 06.00 น. ซึ่งในช่วงนี้จะมีพลังงานไฟฟ้าเหลือใช้จากการผลิตของโรงไฟฟ้าพลังความร้อน จึงนำมาใช้ประโยชน์ด้วยการสูบน้ำขึ้นไปพักไว้ที่อ่างพักน้ำบนเขายายเที่ยง (Upper Pond) เพื่อเอาไว้ปล่อยลงมาผลิตกระแสไฟฟ้าในช่วงความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง วิธีนี้นอกจากจะทำให้เกิดความมั่นคงต่อระบบการผลิตแล้ว ยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพให้โรงไฟฟ้าพลังความร้อน อีกด้วย

AUU_7901

นายฉัตรชัย ภูกาบเพชร กล่าวถึงเรื่องการใช้น้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง ว่า เขื่อนลำตะคอง อยู่ห่างออกไปจากโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ระยะทาง (คมนาคมทางบก) 19.2 กิโลเมตร ปัจจุบันโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นผู้รับผิดชอบ โดยควบคุมการส่งน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองให้แก่ผู้ใช้น้ำด้านต่าง ๆ ตามลำดับความสำคัญ ดังนี้  การประปาเทศบาลตำบลคลองไผ่ การประปาสุขาภิบาลใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค บริเวณริมฝั่งอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง การประปาอำเภอสีคิ้ว การประปาเทศบาลนครนครราชสีมา โรงงานอุตสาหกรรม (รวมทั้งเขตอุตสาหกรรมนวนคร) และการชลประทานเพื่อภาคการเกษตร โดยปล่อยน้ำจากเขื่อนลำตะคองผ่านท่อส่งน้ำบริเวณตัวเขื่อนระบายลงสู่ลำน้ำลำตะคองเดิมแล้วส่งไปยังท้ายน้ำเพื่อนำไปใช้ในกิจการต่าง ๆ ส่วนน้ำใช้สำหรับการประปาเทศบาลเมืองนครราชสีมา บางส่วนจะสูบจากอ่างเก็บน้ำลำตะคองโดยตรงส่งไปยังตัวเมืองนครราชสีมา โดยผ่านท่อส่งน้ำที่จัดไว้โดยเฉพาะ ปริมาณน้ำใช้เพื่อกิจการต่าง ๆ โดยเฉลี่ยทั้งปีมีปริมาณ 230 ล้านลูกบาศก์เมตร แบ่งออกไว้ใช้ในฤดูแล้ง (ธันวาคม ถึงพฤษภาคม) 72 ล้านลูกบาศก์เมตร และฤดูฝน (มิถุนายน ถึงพฤศจิกายน) 158 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยปริมาณน้ำที่ใช้ในฤดูแล้ง แบ่งเป็น  1.อุปโภคบริโภค จ่ายให้ประปาเทศบาล 14.4 ล้านลูกบาศก์เมตร , ประปาสุขาภิบาล 9.0 ล้านลูกบาศก์เมตร , บริเวณริมฝั่งอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง 4.2 ล้านลูกบาศก์เมตร   2.โรงงานอุตสาหกรรม 3.6 ล้านลูกบาศก์เมตร  3.การชลประทาน 40.8 ล้านลูกบาศก์เมตร

1 (8)

สำหรับในฤดูฝน น้ำใช้เพื่อการอุปโภคบริโภค และโรงงานอุตสาหกรรมอยู่ในปริมาณที่ใกล้เคียงกับฤดูแล้ง จะมีน้ำใช้เพื่อการชลประทานเท่านั้นที่เพิ่มขึ้นเป็น 124.8 ล้านลูกบาศก์เมตร  อย่างไรก็ตาม ปริมาณน้ำดังกล่าวเป็นเพียงปริมาณน้ำใช้โดยเฉลี่ย ในปีใดปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองมีมาก กรมชลประทานก็สามารถส่งน้ำให้ใช้ได้เพียงพอในทุก ๆ ด้าน แต่หากปีใดปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองมีน้อย กรมชลประทานก็จำเป็นต้องลดการส่งน้ำใช้ด้านต่าง ๆ ลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำใช้เพื่อการชลประทาน โดยมีการประชุมประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัดนครราชสีมา ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาการขาดแคลนน้ำ

DSC_06470  1000878

หัวหน้ากองโรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา ได้กล่าวถึงการหมุนเวียนน้ำจากอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองเพื่อผลิตไฟฟ้า ว่า โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนา มีขั้นตอนการดำเนินงานโดยทางโรงไฟฟ้าลำตะคองฯ จะทำการสูบน้ำขึ้นไปพักไว้ในอ่างพักน้ำตอนบน ในช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าน้อย (Light Load) และจะปล่อยน้ำกลับคืนลงมาอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคอง พร้อมกับผลิตไฟฟ้าในช่วงที่มีความต้องการการใช้ไฟฟ้ามาก (Peak Load) เป็นการนำน้ำมาหมุนเวียนใช้โดยปริมาณน้ำนั้นไม่สูญหายไปไหน ในขณะเดียวกันแต่ละวันก็ยังมีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองตลอดเวลาตามฤดูกาล ส่วนในกรณีที่น้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองปริมาณน้ำลดน้อยลงเหลือ 30 ล้านลูกบาศก์เมตร โรงไฟฟ้าฯ จะหยุดการสูบน้ำเพื่อการผลิตไฟฟ้า และปริมาณน้ำดังกล่าวก็ยังคงเพียงพอต่อการบริโภคเช่นเดียวกับก่อนมีโรงไฟฟ้า

 

DJI_0288 (2)

สรุปว่าทั้งในฤดูฝน หรือฤดูแล้งไม่ว่าจะมีน้ำในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองมาก หรือน้อย โรงไฟฟ้าลำตะคองชลภาวัฒนาจะไม่ทำให้เกิดผลกระทบต่อการใช้น้ำของอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำตะคองแต่อย่างใด ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าลำตะคองฯ เป็นโรงไฟฟ้าพลังน้ำแบบสูบกลับ ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นแหล่งท่องเที่ยว รวมถึงรองรับการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งพร้อมเป็นแบตเตอรี่พลังงานทดแทนที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

มหัทธพนธ์  เขื่อนเพ็ชรต์ / ศูนย์ข่าวจังหวัดนครราชสีมา




--!>